เงื่อนไขการยื่นคำขอจดทะเบียนอนุสิทธิบัตร

     การจดทะเบียนอนุสิทธิบัตร เป็นวิธีการที่จะช่วยให้เราสามารถคุ้มครองงานประดิษฐ์หรือวิธีคิดของเรา เป็นการป้องกันมิให้บุคคลอื่นนำผลงานไปใช้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์โดยไม่ได้รับการอนุญาต ทั้งนี้ผู้ที่มีความประสงค์จะยื่นจดทะเบียนอนุสิทธิบัตร ต้องดำเนินการจัดเตรียมเอกสารและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ตามที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้กำหนดไว้ พร้อมทั้งปฏิบัติตามเงื่อนไขในการยื่นคำขอดังนี้

การขอรับอนุสิทธิบัตรให้ผู้ขอยื่นคำขอตามแบบพิมพ์ที่อธิบดีกำหนด    

     1.1 คำขอรับอนุสิทธิบัตรต้องมีรายละเอียดการประดิษฐ์ ข้อถือสิทธิและบทสรุปการประดิษฐ์ยื่นไปพร้อมกับคำขอและในกรณีที่จำเป็น เพื่อให้สามารถเข้าใจการประดิษฐ์ได้ดีขึ้น ให้ผู้ขอรับอนุสิทธิบัตรจัดให้มีรูปเขียนประกอบคำขอรับอนุสิทธิบัตรยื่นไปพร้อมกับคำขอด้วย    
     1.2 ในกรณีที่การประดิษฐ์ที่ขอรับอนุสิทธิบัตรเป็นการประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับจุลชีพใหม่ รายละเอียดการประดิษฐ์ให้หมายถึงหนังสือรับรองการฝากเก็บจุลชีพและ/หรือเอกสารแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะ หรือคุณสมบัติของจุลชีพนั้น ซึ่งออกให้โดยสถาบันรับฝากเก็บจุลชีพที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะประกาศรายชื่อเป็นคราว ๆ ไป    

การมอบอำนาจ    

     2.1 กรณีที่ผู้ขอรับอนุสิทธิบัตรไม่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ให้มอบอำนาจให้ตัวแทนซึ่งได้ขึ้นทะเบียนไว้กับอธิบดีเป็นผู้กระทำการแทนในราชอาณาจักรโดยยื่นหนังสือมอบอำนาจต่ออธิบดีตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้    
          (1) ในกรณีที่การมอบอำนาจนั้นได้กระทำในต่างประเทศหนังสือมอบอำนาจนั้นต้องมีคำรับรองลายมือชื่อโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของสถานทูตไทย หรือสถานกงสุลไทย หรือหัวหน้าสำนักงานสังกัดกระทรวงพาณิชย์ซึ่งประจำอยู่ ณ ประเทศที่ผู้มอบอำนาจมีถิ่นที่อยู่ หรือเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบอำนาจให้กระทำการแทนบุคคลดังกล่าว หรือคำรับรองของบุคคลซึ่งกฎหมายของประเทศนั้นให้มีอำนาจรับรองลายมือชื่อ     
          (2)  ในกรณีที่หนังสือมอบอำนาจนั้นได้กระทำในประเทศไทยต้องส่งภาพถ่ายหนังสือเดินทาง หรือภาพถ่ายหนังสือรับรองถิ่นที่อยู่ชั่วคราว หรือหลักฐานอื่นที่แสดงให้อธิบดีเห็นว่าในขณะมอบอำนาจผู้นั้นได้เข้ามาในประเทศไทยจริงด้วย    
     2.2 ในกรณีที่ผู้ขอรับอนุสิทธิบัตรซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรประสงค์จะมอบอำนาจให้บุคคลอื่นกระทำการแทน จะมอบอำนาจให้แก่ตัวแทนซึ่งได้ขึ้นทะเบียนไว้กับอธิบดีเป็นผู้กระทำการแทนได้เท่านั้น         
     2.3 หนังสือมอบอำนาจดังกล่าว จะต้องปิดอากรแสตมป์ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์  ดังนี้    
          (1) กรณีมอบอำนาจให้บุคคลเดียว หรือหลายคนกระทำการครั้งเดียว ให้ปิดอากร 10 บาท    
          (2) กรณีมอบอำนาจให้บุคคลเดียว หรือหลายคนร่วมกระทำการมากกว่าครั้งเดียว ให้ปิดอากร 30 บาท    
          (3) กรณีมอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าครั้งเดียว โดยให้บุคคลหลายคน ให้ปิดอากรคิดตามรายบุคคลที่รับมอบคนละ 30 บาท         

ข้อมูล ณ วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2566 
ที่มา : สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล 
โทร. 0 2612 6060


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,247,775