พิธีการสำหรับสินค้าถ่ายลำ/ผ่านแดนในประเทศไทย

     การขนส่งสินค้าเข้ามาในประเทศไทย สามารถเดินทางมาได้หลายรูปแบบ ทั้ง ทางบก น้ำ ราง และอากาศ โดยปัจจุบันพบว่าการขนส่งสินค้าทางราง เป็นเส้นทางการลำเลียงที่สำคัญที่สุดของประเทศ เพราะเหมาะสำหรับการขนส่งสินค้าหนัก ๆ ปริมาณมาก และในระยะทางไกล รวดเร็ว อัตราค่าบริการไม่แพง และขนส่งสินค้าได้จำนวนมากหลายชนิด ทันตามกำหนดเวลาที่ต้องการ แต่ความยืดหยุ่นมีน้อย เพราะมีเส้นทางตายตัว การขนส่งสินค้าก็จะต้องเสียภาษีผ่านจุดผ่านแดน ก่อนเข้ามาในประเทศไทยทุกช่องทาง และส่วนใหญ่ต้องเปลี่ยนถ่ายยานพาหนะ ในการกระจายสินค้าไปยังจุดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งมีกระบวนการหลัก ๆ 2 แบบด้วยกัน ดังนี้ 

     การผ่านแดน คือ การขนส่งของผ่านประเทศไทย จากด่านศุลกากรแห่งหนึ่งที่ขนส่งของเข้ามา ไปยังด่านศุลกากรอีกแห่งหนึ่งที่ขนส่งของออกไป ภายใต้การควบคุมของศุลกากร โดยมีจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดของการขนส่งอยู่นอกราชอาณาจักร การขนส่งของนั้นอาจมีการเปลี่ยนถ่ายยานพาหนะ การเก็บรักษาของ การเปลี่ยนภาชนะบรรจุเพื่อประโยชน์ในการขนส่ง การเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งได้ แต่ทั้งนี้ ต้องไม่มีการใช้ประโยชน์ใด ๆ ซึ่งของนั้น หรือมีพฤติกรรมใด ๆ เพื่อประโยชน์ทางการค้าเกี่ยวกับของดังกล่าวในระหว่างการผ่านประเทศไทย การผ่านแดนในปัจจุบัน มี 2 รูปแบบ คือ

     1. การผ่านแดนตามความตกลงระหว่างประเทศ ได้แก่
          1.1. ความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางถนนระหว่างรับาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ผู้ที่ทำหน้าที่รับผิดชอบการขนส่ง เรียกว่า ผู้ขนส่งผ่านแดน ซึ่งต้องเป็นผู้ที่ได้รับอนุมัติจากกรมการขนส่งทางบก ในการทำหน้าที่ขนส่งของผ่านแดน และการขนส่งต้องดำเนินการความตกลง ในเรื่องด่านศุลกากรที่เป็นด่านศุลกากรผ่านเข้าออก และเส้นทางการขนส่ง 
          1.2. ความตกลงว่าด้วยการขนส่งสินค้าผ่านแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบในฐานะผู้ขนส่งผ่านแดน เนื่องจากเป็นการขนส่งสินค้าของมาเลเซีย ระหว่างฝั่งตะวันออกไปยังฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมาเลเซีย โดยทางรถไฟในประเทศไทย (ด่านศุลกากรที่รับผิดชอบ คือ ด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ และ ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก)
     2. การผ่านแดนตามความตกลง GATT 1994 ผู้ที่ทำหน้าที่รับผิดชอบการขนส่งนี้ เรียกว่า ผู้ขอผ่านแดน 

     การถ่ายลำ คือ การถ่ายของจากยานพาหนะหนึ่ง ที่ขนส่งของเข้ามาในประเทศไทย ไปยังอีกยานพาหนะหนึ่ง ที่ขนส่งของออกไปนอกราชอาณาจักร ภายใต้การควบคุมของศุลกากร ในด่านศุลกากรแห่งเดียวกัน โดยมีจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดของการขนส่งอยู่นอกราชอาณาจักร 

ข้อมูล ณ วันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2561
ที่มา : สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ (สทก.)
โทร. 0 2667 7000 ต่อ 20-5604


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,248,816