เปิดเกณฑ์ขอรับส่งเสริมการลงทุนตามประกาศใหม่

      คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการอนุมัติโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุน ตามประกาศ นโยบายและหลักเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ ซึ่งมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2566 เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต รวมทั้งสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนา นโยบายการพัฒนาภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการของประเทศ เพื่อให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขัน และมีการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว

โดยได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการอนุมัติโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุน ดังนี้

1. การพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ต้องมีมูลค่าเพิ่มไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของรายได้ ยกเว้นกิจการเกษตรและอาหาร กิจการอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน และกิจการตัดโลหะ ต้องมีมูลค่าเพิ่มไม่น้อยกว่า ร้อยละ 10 ของรายได้ ต้องมีกรรมวิธีการผลิตหรือขั้นตอนการให้บริการที่ทันสมัย และเป็นไปตามที่คณะกรรมการเห็นชอบ ต้องใช้เครื่องจักรใหม่ กรณี เครื่องจักรใช้แล้ว ให้นับเป็นเงินลงทุนสำหรับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่ไม่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้า ต้องมีอายุไม่เกิน 5 ปี นับตั้งแต่ปีที่ผลิตถึงปีที่นำเข้า โดยต้องได้รับใบรับรองจากสถาบันที่เชื่อถือได้

2. โครงการที่มีเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) ตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ต้องดำเนินการให้ได้รับใบรับรองระบบคุณภาพตามมาตรฐาน ISO 9000 หรือ ISO 14000 หรือมาตรฐานสากลอื่นที่เทียบเท่าภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันครบเปิดดำเนินการ หากไม่สามารถดำเนินการได้ จะถูกเพิกถอนสิทธิและประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้ นิติบุคคล 1 ปี

3. ต้องมีแนวทางและมาตรการในการป้องกันและลดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ สำหรับโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการจะพิจารณาเป็นพิเศษในเรื่องสถานที่ตั้งและวิธีจัดการมลพิษ  

4. ต้องมีเงินลงทุนขั้นต่ำของแต่ละโครงการไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท โดยไม่รวมค่าที่ดิน และทุนหมุนเวียน เว้นแต่กรณีที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะในบัญชีประเภทกิจการ ที่ให้การส่งเสริมการลงทุนตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ทั้งนี้ สำหรับประเภทกิจการที่ใช้ฐานความรู้เป็นปัจจัยหลักในการดำเนินธุรกิจ ให้พิจารณาเงินลงทุนขั้นต่ำจากเงินเดือนบุคลากรต่อปี ซึ่งจะกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ

5. ต้องมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนจดทะเบียนไม่เกิน 3 ต่อ 1 สำหรับโครงการริเริ่ม ส่วนโครงการขยายจะพิจารณาตามความเหมาะสมเป็นรายกรณี 

6. โครงการที่มีเงินลงทุน โดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนเกิน 2,000 ล้านบาท ต้องเสนอรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการตามที่คณะกรรมการกำหนด

7. โครงการสัมปทาน สำหรับโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2552 จะไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับการส่งเสริม  

ส่วนโครงการที่ได้รับสัมปทานที่เอกชนดำเนินการ โดยจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่รัฐ (Build Transfer Operate หรือ Build Operate Transfer) เป็นการคัดเลือกเอกชนด้วยวิธีการประมูล และเป็นกิจการที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ และอยู่ในบัญชีประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุน คณะกรรมการจะพิจารณาให้การส่งเสริมตามหลักเกณฑ์ทั่วไป โดยไม่ต้องขออนุมัติหลักการก่อนยื่นขอรับการส่งเสริม

ส่วนโครงการของรัฐที่ให้เอกชนลงทุนและเป็นเจ้าของ (Build Own Operate) รวมทั้งให้เอกชนเช่าหรือบริหาร โดยจ่ายผลตอบแทนให้รัฐในลักษณะค่าเช่า คณะกรรมการ จะพิจารณาให้การส่งเสริมตามหลักเกณฑ์ทั่วไป 

การแปรรูปจากรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทจำกัดตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2552 หากต้องการขยายงาน จะขอรับการส่งเสริมได้เฉพาะส่วนที่ลงทุนเพิ่ม โดยจะได้รับสิทธิ และประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ทั่วไป

8. หลักเกณฑ์การถือหุ้นของต่างชาติ กรณีโครงการลงทุนในกิจการตามที่ปรากฏในบัญชีหนึ่ง ท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2552 ต้องมีผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของทุนจดทะเบียน ส่วนโครงการลงทุนในกิจการตามที่ปรากฏในบัญชีสองและบัญชีสามท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2552 อนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นข้างมากหรือทั้งสิ้นได้ เว้นแต่กรณีที่มีกฎหมายอื่นกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,248,950