ภาษีลดโลกร้อนของไทยมีอะไรบ้าง

ภาษีลดโลกร้อนของไทยมีอะไรบ้าง

            ปัญหาภาวะโลกร้อนในปัจจุบันเกิดจากอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ สาเหตุหลักของปัญหาเกิดจากก๊าซเรือนกระจก ที่มีคุณสมบัติในการรักษาอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศของโลกให้คงที่ แต่ในปัจจุบันประชากรของโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อประชากรมีการขยายตัวมากขึ้น ทรัพยากรก็ถูกนำมาใช้มากขึ้นเพื่อสนองความต้องการของประชากรบนโลก 

            การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งการตัดไม้ทำลายป่าที่ลดพื้นที่สีเขียว และการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ทำให้ก๊าซเรือนกระจกค่อย ๆ จับตัวกัน บนชั้นบรรยากาศของโลก ทำให้โลกอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเรียกว่า “ภาวะโลกร้อน”

            จากผลกระทบที่เกิดจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ประเทศต่าง ๆ ได้ให้ความสำคัญ โดยได้คิดมาตรการป้องกัน เพื่อบรรเทาปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ จึงมีแนวโน้มที่จะนำมาตรการทางภาษีที่เรียกว่า “ภาษีคาร์บอน” มาใช้เพื่อสร้างแรงจูงใจให้มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของก๊าซเรือนกระจก 

            สำหรับการจัดเก็บภาษีคาร์บอนประเทศไทยยังไม่มีการนำมาใช้ เนื่องจากยังไม่มีความพร้อมในการตรวจวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในปัจจุบันรัฐบาลได้ร่างพระราชบัญญัติมาตรการการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นกฎหมายที่ให้โอกาสรัฐบาลมีเครื่องมือด้านการคลัง เช่น ภาษี ค่าธรรมเนียม และมาตรการต่าง ๆ เพื่อดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อม แนวทางในการจัดเก็บภาษีคาร์บอนที่เป็นไปได้ในประเทศไทย สามารถดำเนินการได้ 3 รูปแบบ คือ 

1.เก็บภาษีบนฐานการใช้ไฟฟ้า 

2.เก็บภาษีบนฐานใช้เชื้อเพลิง 

3.เก็บภาษีบนฐานปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยตรงจากแหล่งผลิต 

            ขณะเดียวกันเพื่อจูงใจให้เกิดการมีส่วนร่วมในการลดโลกร้อน รัฐบาลจึงมีมาตรการภาษีส่งเสริมโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ สำหรับบริษัทห้างร้าน นิติบุคคลที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการเย้นเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,249,074