ทำความรู้จักท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 กับแผนพัฒนา EEC

           การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เพื่อการเพิ่มขีดความสามารถการรองรับตู้สินค้าจากปัจจุบันอยู่ที่ 11 ล้านทีอียูต่อปี ทำให้เป็นท่าเรือขนส่งสินค้าที่ใหญ่และสำคัญของประเทศไทย ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการค้าของประเทศและรองรับการพัฒนาตามแผนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC)

           โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 มีพื้นที่ขนาด 1,600 ไร่ โดยจะดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำหรับจอดเรือน้ำลึก และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ รวมทั้งการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง (Single Rail Transfer Operator, SRTO) ก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรภายในท่าเรือ รวมถึงโครงข่ายและระบบการขนส่งต่อเนื่องที่จำเป็นในเขตพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบังที่จะเชื่อมต่อกับภายนอกให้เพียงพอ และพร้อมที่จะรองรับการขยายตัวของปริมาณเรือและสินค้าประเภทต่าง ๆ 

แผนการดำเนินงาน แบ่งเป็น

ระยะที่ 3 (ส่วนที่ 1) งานก่อสร้างทางทะเล   
           ประกอบด้วย งานขุดลอกและถมทะเล งานขนย้ายดินเลน งานคันหินล้อมพื้นที่ถมทะเล งานเขื่อนกันคลื่น งานเครื่องหมายช่วยการเดินเรือ และงานก่อสร้างประตูระบายน้ำ

ระยะที่ 3 (ส่วนที่ 2) งานก่อสร้างอาคาร ท่าเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค            
           ประกอบด้วย งานก่อสร้างอาคาร งานก่อสร้างท่าเทียบเรือ บริการท่าเทียบเรือชายฝั่งงานก่อสร้างถนน และงานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค

ระยะที่ 3 (ส่วนที่ 3) งานก่อสร้างระบบรถไฟ
           ประกอบด้วย งานก่อสร้างระบบรถไฟทางคู่ใหม่ จำนวน 2 ทาง โดยมีจุดเริ่มต้นบริเวณก่อนถึงย่านรถไฟ SRTO ไปยังพื้นที่หลังท่าเรือขนส่งตู้สินค้าชุด F และท่าเรือขนส่งตู้สินค้าชุด E

  • ท่าเรือชุด F แนวเส้นทางรถไฟตัดผ่านพื้นที่หลังท่าเรือขนส่งตู้สินค้าชุด F จำนวน 5 พวงราง จอดขบวนรถไฟได้ 3 ราง รางละ 2 ขบวน รวมจอดขบวนรถไฟทั้งหมดได้ 6 ขบวนพร้อมกัน โดยมีความยาวตั้งแต่จุดเริ่มต้นถึงสิ้นสุดที่หลังท่าเรือขนส่งตู้สินค้า F2 มีระยะทางรวม 7.103 กิโลเมตร
  • ท่าเรือชุด E แนวเส้นทางรถไฟที่ตัดผ่านพื้นที่หลังท่าเรือขนส่งตู้สินค้าชุด E จำนวน 3 พวงราง จอดขบวนรถไฟได้ 2 ราง รางละ 2 ขบวน รวมจอดขบวนรถไฟทั้งหมดได้ 4 ขบวนพร้อมกัน มีจุดเริ่มต้นแยก จากเส้นทางรถไฟสายพื้นที่หลังท่าเรือขนส่งตู้สินค้าชุด F ถึงจุดสิ้นสุดหลังท่าเรือขนส่งตู้สินค้า E1 มีระยะทางรวมประมาณ 2.289 กิโลเมตร รวมถึงงานถมดินปรับระดับ งานระบบราง (Track Works) และงานติดตั้งอุปกรณ์และโครงสร้างอื่น ๆ

ระยะที่ 3 (ส่วนที่ 4) งานจัดหา และติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์สำหรับขนย้ายสินค้า พร้อมออกแบบและติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับบริหารท่าเรือ และระบบโครงสร้างพื้นฐานกลาง
           ประกอบด้วย งานจัดหา ประกอบ และติดตั้งเครื่องจักรสำหรับขนย้ายสินค้า 3 ประเภท จำนวน 10 คัน ได้แก่ ปั้นจั่นยกสินค้าหน้าท่า จำนวน 2 คัน, รถคานยกเคลื่อนที่ชนิดล้อยางทำงานด้วยระบบไฟฟ้าแบบกึ่งอัตโนมัติ จำนวน 6 คัน, รถคานเคลื่อนที่ยกตู้สินค้าชนิดเดินบนราง จำนวน 2 คัน รวมทั้งงานออกแบบและติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับบริหารท่าเรือและระบบโครงสร้างพื้นฐานกลาง

           หากดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 แล้วเสร็จ จะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าจาก 11 ล้านทีอียูต่อปี เป็น 18 ล้านทีอียูต่อปี, รองรับรถยนต์จาก 2 ล้านคันต่อปี เป็น 3 ล้านคันต่อปี รวมถึงติดตั้งระบบจัดการตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ (Automation) เพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรางเป็น 30% อีกทั้งยังพัฒนาเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าของภูมิภาคอินโดจีน (Hub Port) เป็นประตูการค้าที่สำคัญของภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Gateway Port) และพร้อมก้าวขึ้นเป็นท่าเรือระดับโลก (World-Class Port โดยคาดว่าจะเปิดดำเนินการภายในปี 2568


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,254,576