ท่าเรือแหลมฉบัง การพัฒนาขีดความสามารถรองรับการขนส่งทั่วโลก

            หากพูดถึงการขนส่งสินค้าทางน้ำของประเทศไทย ท่าเรือแหลมฉบัง ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ถือเป็นท่าเรือน้ำลึกหลักในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ มีพื้นที่ขนาด 6,340 ไร่ ประกอบด้วยท่าเทียบเรือที่เปิดให้บริการแล้ว ได้แก่ ท่าเทียบเรือตู้คอนเทนเนอร์ 7 ท่า, ท่าเทียบเรือเอนกประสงค์ 1 ท่า, ท่าเทียบเรือ Ro/Ro 1 ท่า, ท่าเทียบเรือโดยสารและเรือ Ro/Ro 1 ท่า, ท่าเทียบเรือสินค้าทั่วไป ประเภทเทกอง 1 ท่า และอู่ต่อและซ่อมเรือ 1 ท่า 

            โดยท่าเรือแหลมฉบัง สามารถรองรับเรือขนาดใหญ่พิเศษ (Super Post Panamax) โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่เป็นองค์กรบริหารท่าเรือโดยรวม ส่วนงานด้านปฏิบัติการเป็นของเอกชนที่เช่าประกอบการ หรือที่เรียกว่า Landlord Port 

            สำหรับอัตราการเติบโตของการให้บริการขนถ่ายสินค้าถือว่าสูงสุดแห่งหนึ่งของโลก จากการจัดอันดับท่าเทียบเรือที่เป็น World Top Container Port โดยนิตยสารชั้นนำของโลก เช่น Loylld List เป็นต้น ซึ่งท่าเรือแหลมฉบังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากลำดับที่ 23 ในช่วงปี 2541-2542 และเลื่อนขึ้นเป็นลำดับที่ 20 ในปี 2545 และ 18 ในปี 2546 

            นอกจากนี้ ท่าเรือแหลมฉบังมีความสำคัญในการค้าระดับสากล เป็นท่าเรือที่มีจุดยุทธศาสตร์ตั้งอยู่ใกล้นิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง รวมถึงเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และจากสถิติพบว่า ท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือเกตเวย์ติดอันดับต้น ๆ ของโลกมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 ได้รับการจัดอันดับให้เป็นท่าเรือเกตเวย์อันดับ 3 ของโลก (3rd World Gateway Port) เป็นรองท่าเรือ Los Angeles และท่าเรือ Long Beach        

            ทั้งนี้ ท่าเรือแหลมฉบัง ยังมีความสามารถในการเชื่อมต่อเส้นทางการขนส่ง ทั้งทางน้ำ ทางอากาศ ทางราง และทางถนน (Multimodal Transport) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่เพียงแต่ในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน แต่ยังสามารถเชื่อมโยงไปยังประเทศจีน ผ่านเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 อีกด้วย ส่งผลให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูการค้าที่สำคัญของไทยและเอเชีย 

            ปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังมีขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้า 11 ล้านทีอียู ต่อปี และรองรับรถยนต์ได้ 2 ล้านคัน ต่อปี


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,245,689