เปิดเผยตัวเลข ไทยแชมป์ต่างชาติลงทุนมากที่สุด

           ประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ แม้ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ด้วยข้อจำกัดในหลาย ๆ เรื่อง ทำให้การเข้ามาลงทุนน้อยลง อย่างไรก็ตาม ภายหลังสถานการณ์คลี่คลาย รัฐบาลได้เตรียมพร้อมผลักดันนโยบาย เพื่อสนับสนุนและดึงดูดการลงทุน เช่น การปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย การออกมาตรการสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติ

           โดยในช่วงปี 2565 พบว่าประเทศไทยได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทำให้เม็ดเงินการลงทุน รวมถึงเกิดการจ้างงานไทยในอัตราที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน

           จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดเผยว่า ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ปี 2542 ตลอด 11 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-พ.ย.) อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 530 ราย

นักลงทุนต่างชาติ 5 อันดับแรก ที่ครองแชมป์ในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากที่สุด ได้แก่ 

1. ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 137 ราย (ร้อยละ 26) เงินลงทุน 39,000 ล้านบาท

2. ประเทศสิงคโปร์ จำนวน 85 ราย (ร้อยละ 16) เงินลงทุน 11,999 ล้านบาท 

3. ประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 70 ราย (ร้อยละ 13) เงินลงทุน 3,343 ล้านบาท 

4. ประเทศฮ่องกง จำนวน 38 ราย (ร้อยละ 7) เงินลงทุน 8,451 ล้านบาท 

5. ประเทศจีน จำนวน 25 ราย (ร้อยละ 5) เงินลงทุน 22,677 ล้านบาท 

           โดยการอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 530 ราย นั้น แบ่งเป็น ใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 198 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 332 ราย เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 112,466 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 5,008 คน

ส่วนการลงทุนในพื้นที่ EEC พบว่านักลงทุนต่างชาติ ที่เข้ามาลงทุนมากที่สุดในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ย. ปี 2565 ได้แก่

1.ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 42 ราย เงินลงทุน 24,520 ล้านบาท 

2.ประเทศจีน จำนวน 9 ราย เงินลงทุน 10,956 ล้านบาท 

3.ประเทศสิงคโปร์ จำนวน 9 ราย เงินลงทุน 2,156 ล้านบาท

           รวมทั้งมีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 105 ราย คิดเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด มีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 48,316 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43 ของเงินลงทุน

           ขณะที่ธุรกิจที่นักลงทุนเข้ามาลงทุน ได้แก่ บริการศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศด้วยระบบที่ทันสมัย, บริการพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นการออกแบบและพัฒนาระบบบริหารจัดการควบคุมการผลิตในโรงงาน และระบบบริหารจัดการสินค้าคงคลัง, บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การพัฒนาแอปพพลิเคชัน การอัปเกรดซอฟต์แวร์ต่าง ๆ เป็นต้น

 


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,254,950