สถานภาพการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทย

           ปัจจุบันภาครัฐและภาคเอกชนไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการกําหนดนโยบาย มาตรการที่สนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศ ขณะเดียวกันก็มีการพิจารณาแก้ไขข้อกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อเศรษฐกิจหมุนเวียน การกำหนดมาตรการสนับสนุนสิทธิประโยชน์แก่ภาคเอกชน ในขณะที่ภาคเอกชนมีความตื่นตัวในเรื่องระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น มีการกําหนดแนวคิดการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หากเรามองสถานภาพการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทย จะเห็นได้ดังนี้ 

           1) การขับเคลื่อนด้านนโยบาย การบรรจุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป็นวาระสำคัญและเป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศ เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการพัฒนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของไทย ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐมีการกําหนดนโยบายหรือมาตรการที่สนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การจัดทำแผนนําทางการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 

           2) บทบาทของภาคเอกชน ความตื่นตัวในเรื่องระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในภาคเอกชนเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น ผู้ประกอบการรายใหญ่มีการกําหนดแนวคิดการดำเนินธุรกิจภายใต้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการธุรกิจใหม่ และวิสาหกิจชุมชนที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น อาทิ ธุรกิจรีไซเคิล 

           3) การสร้างความเข้มแข็งด้านการวิจัยพัฒนา โดยประเทศไทยมีการพัฒนางานวิจัยที่มุ่งใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดกระจายอยู่ในหน่วยงานต่าง ๆ แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาฐานข้อมูล Material Flow ของประเทศ การพัฒนาฐานข้อมูล Agricultural Waste Management and Database เพื่อการพัฒนาองค์ความรู้ และ Solution ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ

           4) จากการที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงจำเป็นที่ต้องมีกระบวนการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนสู่สังคมในวงกว้าง การพัฒนาองค์ความรู้ และการจัดการศึกษาด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ระหว่างหน่วยงานและเครือข่ายต่าง ๆ ของภาครัฐ ภาคเอกชน และอุดมศึกษาจึงสำคัญ 


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,248,166