ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพของไทย

           BCG Model เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมที่ขับเคลื่อน 3 เศรษฐกิจไปพร้อม ๆ กัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรชีวภาพ โดยเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียนที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่า และเศรษฐกิจสีเขียวที่คำนึงถึงความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม มีสาขาเป้าหมายสำคัญคือสาขาพลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ โดยประเทศไทยมีศักยภาพที่จะพัฒนาการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อนำไปสู่ความมั่นคงทางด้านพลังงานในทุกระดับ โดยเฉพาะ “อุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพ”  

           ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการหาแหล่งพลังงานใหม่ให้เพียงพอต่อความต้องการในระยะยาว  โดยเฉพาะพลังงานที่เกิดจากผลผลิตทางการเกษตร และของเสียในกระบวนการผลิตที่มีจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของแผนพัฒนาพลังงานทดแทนระยะแรกที่ประสบความสำเร็จจนได้มีการปรับเป้าหมายแผนพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558 - พ.ศ. 2579 โดยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนเป็นร้อยละ 30 สำหรับเชื้อเพลิงชีวภาพมีเป้าหมายเพิ่มการใช้ไบโอดีเซล 3.6 เท่า เอทานอล 2.9 เท่า และก๊าซชีวภาพ 1.6 เท่า จากปี 2560 ผลจากแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ส่งผลให้ปี 2561 ไทยใช้พลังงานทดแทนไปทั้งสิ้น 18,448 พันตัน คิดเป็นร้อยละ 25.2 ของพลังงานขั้นสุดท้าย ลดการนำเข้าพลังงานมูลค่า 4,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 35.98 ล้านตัน (กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน, 2560) โดยเชื้อเพลิงชีวภาพที่มีการผลิต และใช้กันมากในประเทศไทยประกอบด้วย 3 ประเภท ได้แก่

  • เอทานอล มีโรงงานผลิตจำนวน 27 แห่ง และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 1 แห่ง มีกำลังการผลิตราว 6.125 ล้านลิตรต่อวัน ในปี 2562 มีการผลิตเอทานอลรวม 1,604 ล้านลิตร
  • ไบโอดีเซล มีโรงงานการผลิตจำนวน 12 แห่ง กำลังการผลิตรวม 7.68 ล้านลิตรต่อวัน ในปี 2561 มีการผลิตไบโอดีเซลรวม 1,580 ล้านลิตร  
  • ก๊าซชีวภาพ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานประเมินศักยภาพการผลิตก๊าซชีวภาพของประเทศไทยว่ามีทั้งสิ้น 18,700 ล้านลบ.ม. ซึ่งมีที่มาจาก  
    • โรงงานอุตสาหกรรม 1,311 ล้านลบ.ม. 
    • ฟาร์มปศุสัตว์ 880 ล้านลบ.ม. 
    • ขยะจากชุมชนและสถานประกอบการ 312 ล้านลบ.ม. 
    • ของเหลือทิ้งทางการเกษตร 425 ล้านลบ.ม. 
    • พืชพลังงานเน้นหญ้าเนเปียร์ 15,772 ล้านลบ.ม.  

ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,250,746