การขับเคลื่อนและพัฒนา BCG Model ด้านพลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ

           BCG Model คือการพัฒนาประเทศด้วยการใช้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ มุ่งเน้นการพัฒนา 3 เศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งประเทศไทยมีความโดดเด่นในเรื่องของผลผลิตทางการเกษตร แต่ที่ผ่านมาต้องประสบปัญหาผลผลิตล้นตลาด ส่งผลให้ราคาตกต่ำ ทางภาครัฐจึงมีความมุ่งหวังที่จะส่งเสริมให้สามารถนำผลผลิตทางการเกษตรไปใช้ประโยชน์ในปริมาณมากให้หลากหลายรูปแบบ ได้แก่ พลังงานชีวภาพ พลาสติกชีวภาพ และเคมีชีวภาพ เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร และดูดซับผลผลิตส่วนเกิน และลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์เคมีของประเทศไทย

ทั้งนี้การขับเคลื่อนการพัฒนา BCG สาขาพลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพทั้ง 4 ด้าน ประกอบได้ด้วย

1. การสร้างการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพภายในประเทศ เช่น การพัฒนากลไกตลาดที่คำนึงถึงต้นทุนของสิ่งแวดล้อมตลอดวงจรชีวิต การปลดล็อกกฎหมายหรืออุปสรรคในการเข้าสู่ตลาด การเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไม่จำกัดจำนวน การประกาศลดประเภทน้ำมัน และเพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ    

2. ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพ ในส่วนของต้นน้ำให้ความสำคัญกับการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตในภาคเกษตรโดยส่งเสริมการใช้นวัตกรรม ในส่วนของกลางน้ำให้ความสำคัญกับการแก้กฎหมายผังเมือง แยกประเภทโรงงานผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพออกจากโรงงานผลิตสารเคมี และในส่วนปลายน้ำให้ความสำคัญกับการพัฒนาต่อยอดเชื้อเพลิงชีวภาพไปสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง

3. การเร่งรัดพัฒนาความสามารถทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของ “การซื้อ”, “การร่วมวิจัย” และ “การสร้างด้วยตนเอง” โดยมุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่เอื้อต่อการพัฒนา เช่น การสร้างกองทุนพร้อมการกระจายทุนให้กับผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs, การส่งเสริมการวิจัย พัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่การผลิต, การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพ เพื่อกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์วัสดุและเคมีชีวภาพที่พัฒนาในประเทศไทย และส่งเสริมการสร้างและพัฒนาบุคลากรในสาขาที่ขาดแคลน

4. การบริหารจัดการเพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG สาขาพลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ ในรูปของ 5 คณะทำงานย่อยประกอบด้วย

           - คณะทำงานชุด Carbon Pricing & Carbon Credit 

           - คณะทำงานศึกษา และพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพ 

           - คณะทำงานส่งเสริมการผลิตเอทานอลในมาตรฐาน Industrial & Pharmaceutical Grade 

           - คณะทำงานการพัฒนา Smart Grid & Energy Trading Platform 

           - คณะทำงานพัฒนาศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม Biorefinery และผลิตภัณฑ์ชีวภาพครบวงจร

 


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,252,112