เป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมยาและวัคซีน ตามแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ครอบคลุมสาขาการดำเนินงาน 4 ด้าน ได้แก่
1) วัคซีน
2) ยา สารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม (Active Pharmaceutical Ingredients หรือ API) และชีววัตถุ
3) ผลิตภัณฑ์การรักษาด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง (Advanced Therapy)
4) บริการด้านจีโนมิกส์ และการแพทย์แม่นยำ
โดยใช้เกณฑ์ในการคัดเลือกสาขาเป้าหมาย 3 ข้อ
1. เป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างผลกระทบสูงต่ออุตสาหกรรม และบริการทางการแพทย์ (สามารถสร้าง รายได้ สร้างความสามารถในการพึ่งพาตนเองให้ประเทศ) และจำเป็นสำหรับระบบบริการ สุขภาพของคนไทย
2. ประเทศมีความพร้อม (เทคโนโลยี Key Players โครงสร้างพื้นฐาน และทรัพยากรธรรมชาติ)
3. มีโอกาสที่จะดำเนินการได้สำเร็จสูงภายใน 3-5 ปี ผลการวิเคราะห์ช่องว่าง (Gap Analysis) ที่อิงจากสถานภาพตลาดและการพัฒนาด้าน BCG
เมื่อวิเคราะห์ร่วมกับความสามารถทางเทคโนโลยี นำไปสู่การกำหนดเป้าหมายการขับเคลื่อนและพัฒนา อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสาขายา และวัคซีนได้แก่ “เพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งตนเอง ขยายฐานธุรกิจการให้บริการ
และการเพิ่มความสามารถในการส่งออกผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและการแพทย์ ด้วยการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม บนพื้นฐานแนวคิดการส่งเสริมธุรกิจที่ดำเนินการโดยเอกชนไทย เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันทัดเทียมกับธุรกิจข้ามชาติขนาดใหญ่ สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและเป็นฐานการผลิตในสถานการณ์ฉุกเฉิน และจำเป็นของประเทศ”
การดำเนินการตามเป้าหมายดังกล่าวจะทำให้ประเทศเพิ่ม GDP จาก 40,000 ล้านบาท เป็น 90,000 ล้านบาท ภายในปี 2024 ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์ และสาธารณสุขของประเทศ ลดการนำเข้ายาและวัคซีนไม่น้อยกว่า 7,500 ล้านบาทต่อปี ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงยาและวัคซีนราคาแพงมากกว่า 300,000 คน นำไปสู่การสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพในทุกสถานการณ์ทั้งยามปกติ และเมื่อเกิดภาวะระบาด
ที่มา: สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
เบอร์โทรศัพท์: +66 2 564 8000