การขับเคลื่อน BCG Model ด้านเครื่องมือแพทย์ตาม SDGs

        โมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ประเทศไทยผลักดันสู่เวทีโลก เพื่อทำให้เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ ชุมชนเข้มแข็ง มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) ของสหประชาชาติ มีหลายสาขาอุตสาหกรรม หนึ่งในนั้นคือการขับเคลื่อนแผนงาน BCG สาขาเครื่องมือแพทย์ ต้องการสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม โดยลดการนำเข้า และลดการเสียดุลการค้าระหว่างประเทศกว่า 15,000 ล้านบาท เพิ่มการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ได้อย่างน้อย 4 คนต่อรายการ คุณค่าการจ้างงานเพิ่มขึ้นกว่า 500 ล้านบาท เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษา จากความพร้อมของปริมาณเครื่องมือแพทย์ วัสดุทางการแพทย์ และนวัตกรรมการรักษาด้วยวิธีการ/เครื่องมือแพทย์ใหม่ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนที่อยู่ตามต่างจังหวัดได้ไม่น้อยกว่า 4,500 ล้านบาท เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของ
ผู้ประกอบการเครื่องมือแพทย์ของไทย ด้วยนวัตกรรมและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ซึ่งในอนาคตจะเป็นโอกาสที่จะขยายตลาดสู่การส่งออก พัฒนาอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจห้องวิเคราะห์ทดสอบ ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นต้น และสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพและความปลอดภัยของเครื่องมือแพทย์ไทย ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ

จึงแบ่งออกเป็น 3 โครงการใหญ่ คือ

  1. ริเริ่มให้มีกองทุนขับเคลื่อนมาตรฐาน Sandbox และบัญชีนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ไทย เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ให้มีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านมาตรฐานที่จำเป็นและขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย และสนับสนุนการผลิตเพื่อทดลองใช้ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ของไทย สำหรับตลาดภาครัฐผ่านมาตรฐาน Sandbox และบัญชีนวัตกรรมไทย

  2. จัดให้มีสถาบันตรวจสอบมาตรฐานเทคโนโลยี และนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ เพื่อสร้างความสามารถในการทดสอบที่ได้มาตรฐานสากลเพื่อรองรับความต้องการของผู้ประกอบการต่าง ๆ เช่น การทดสอบคุณสมบัติเฉพาะทางการแพทย์ ประเภทต่าง ๆ การทดสอบซอฟต์แวร์สำหรับเครื่องมือแพทย์ ระบบการให้บริการทางการแพทย์ พิษวิทยา เครื่องมือแพทย์ที่ใช้ระบบดิจิทัลและ IoT และ Medical Robotic Services และให้มีการรับรองระบบคุณภาพของห้องปฏิบัติการทดสอบเครื่องมือแพทย์ตามมาตรฐาน ยกระดับการให้บริการทดสอบผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์และการให้บริการที่ปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ อันเป็นการส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการผลิตเครื่องมือแพทย์ในอาเซียน รองรับการจ้างผลิตชิ้นส่วนประกอบเครื่องมือแพทย์ราคาแพงในอาเซียนจากผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ชั้นนำจากต่างประเทศ

  3. จัดให้มีสถาบันเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์แห่งชาติเพื่อการบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายส่งเสริมและยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในประเทศ โดยร่วมดำเนินการวิจัย และนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ของประเทศ และส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปสู่ภาคการผลิตและบริการ และทำหน้าที่บริหารจัดการและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เครื่องมือแพทย์เพื่อพัฒนา อุตสาหกรรรมนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ไทย รวมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือและบูรณาการการวิจัยและนวัตกรรมในมิติต่าง ๆ ระดับสากลเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ไทย

ที่มา:สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 

เบอร์โทรศัพท์: +66 2 564 8000


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,244,802