ข้อควรรู้โรคที่มากับหน้าฝนมีอะไรบ้าง

    เข้าสู่ฤดูฝนก็เป็นอีกหนึ่งฤดูที่เต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ เพราะสภาพอากาศ และความชื้นที่เปลี่ยนไป นำมาซึ่งเชื้อไวรัส และแบคทีเรียบางชนิด ซึ่งโรคต่าง ๆ ที่มักเป็นกันบ่อยในช่วงนี้ แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ชาวไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เข้ามาในประเทศไทยควรต้องรู้ เพื่อจะได้ศึกษาวิธีป้องกัน จะมีอะไรบ้าง

  1. กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคหลอดลมอักเสบ โรคปอดอักเสบ และปอดบวม เกิดจากสภาพอากาศที่แปรปรวนบวกกับการหายใจเอาเชื้อไวรัสที่กระจายอยู่ในอากาศจากการไอ จาม ของผู้ป่วยเข้าไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหน้าฝนที่อากาศชื้น จะยิ่งทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้ง่ายมาก เพียงแค่สัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนกับเชื้อไวรัส ก็สามารถติดต่อกันได้แล้ว ดังนั้นวิธีการป้องกัน คือ หากมีอาการป่วย หรือต้องอยู่ในที่ชุมชนแออัด ให้สวมใส่หน้ากากอนามัย ปิดปาก ปิดจมูกเวลาไอ หรือจาม ที่สำคัญควรหมั่นล้างมือบ่อยๆ
  2. กลุ่มโรคที่มียุงเป็นพาหะ เช่น โรคไข้เลือดออก โรคไข้สมองอักเสบ และโรคมาลาเรีย ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากยุง ไม่ว่าจะเป็นยุงลาย ยุงรำคาญ หรือยุงก้นปล่อง เป็นพาหะ โดยส่วนใหญ่มักจะแพร่พันธุ์ในแหล่งน้ำตามทุ่งนา หรือภาชนะที่มีน้ำขัง อาการที่แสดงออกส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะมีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ หากเป็นหนักอาจถึงขั้นช็อก หมดสติและเสียชีวิตได้ ทางที่ดีจึงควรป้องกันโดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรค และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง หลีกเลี่ยงการโดนยุงกัด การเดินป่าในหน้าฝน ต้องทายากันยุง หรือพยายามอยู่ให้ห่างจากพื้นที่ที่มีต้นไม้เยอะ
  3. กุล่มโรคติดต่อทางน้ำและอาหาร เช่น โรคท้องเดิน โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน โรคบิด โรคอาหารเป็นพิษ โรคตับอักเสบ เป็นต้น เกิดจากการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่ไม่สะอาด มีการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์และเชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้อง ท้องเดิน ถ่ายไม่หยุด อาเจียน บางรายเป็นหนักถึงขั้นขาดน้ำและหมดสติได้ ดังนั้นจึงควรระมัดระวังเรื่องอาหารการกินมากเป็นพิเศษ โดยการรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ ใช้ช้อนกลาง และควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร
  4. กลุ่มโรคติดเชื้อทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนัง เช่น โรคแลปโตสไปโรซิส หรือ โรคฉี่หนู และโรคตาแดง สาเหตุมาจากการสัมผัสกับน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค โดยเฉพาะน้ำท่วมขัง น้ำเสียในท่อระบายน้ำ น้ำที่ปนเปื้อนสิ่งปฏิกูลทั้งจากคนและสัตว์ ที่ติดเชื้อ เช่น สุนัข วัว ควาย หนู สุกร ม้า และสัตว์ป่า เป็นต้น หลังได้รับเชื้อประมาณ 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง รวมถึงอาการตาแดง คอแข็ง สลับกับไข้ลด อาจมีอาการตับวายและไตวายได้ วิธีป้องกันคือ หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำหรือการเดินลุยในน้ำที่อาจปนเปื้อนเชื้อปัสสาวะจากสัตว์นำโรค หากจำเป็นควรสวมใส่รองเท้าบูตป้องกันทุกครั้ง
  5. โรคมือ เท้า ปาก พบบ่อยในเด็กเล็ก ติดต่อง่าย ไม่มีวัคซีนป้องกัน และมีโอกาสเป็นเพิ่มมากขึ้นในช่วงหน้าฝน โดยสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส ผู้ติดเชื้อเริ่มด้วยไข้ต่ำ อ่อนเพลีย 1-2 วัน เจ็บปาก ไม่ยอมรับประทานอาหาร มีแผลในปากเหมือนแผลร้อนใน มีผื่นเป็นจุดแดงหรือเป็นตุ่มน้ำใสขึ้นบริเวณ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และอาจมีตามลำตัว แขน ขา ส่วนวิธีการป้องกันยังไม่มีวัคซีน ดังนั้นจึงควรแยกผู้ป่วยที่เป็นโรคไม่ให้ไปสัมผัสกับเด็กคนอื่น และหมั่นทำความสะอาดของเล่นและสิ่งแวดล้อมที่เด็กอยู่ทุกวัน

ข้อมูล : กรมควบคุมโรค
ที่อยู่ : 88/21 ถนน ติวานนนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัด นนทบุรี 11000
สายด่วน: 1422 โทรศัพท์: 02-5903000


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,245,055