ยูเนสโกรับรอง โคราชจีโอพาร์ค เป็นอุทยานธรณีโลก

    องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ครั้งที่ 216 ณ องค์การยูเนสโก สำนักงานใหญ่ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส รับรองให้ โคราชจีโอพาร์ค (KHORAT Geopark) จังหวัดนครราชสีมา เป็นอุทยานธรณีโลก (UNESCO Global Geopark) ถือเป็นอุทยานธรณีโลกแห่งที่ 2 ของประเทศไทย

     และทำให้จังหวัดนครราชสีมา สร้างประวัติศาสตร์ เป็นเมืองแห่ง 3 มงกุฎ หรือทริปเปิลคราวน์ (Triple Crown) ถือเป็นเมืองที่ 4 ของโลก ต่อจากอิตาลี เกาหลีใต้ และจีน ที่มีดินแดนแห่ง 3 มงกุฎของยูเนสโก ในจังหวัดเดียวกัน

ประกอบด้วย

  1. มรดกโลก (กลุ่มป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่)
  2. มนุษย์และชีวมณฑล (พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสะแกราช) และ
  3. จีโอพาร์คโลก (โคราชจีโอพาร์ค)

     สำหรับโคราชจีโอพาร์ค มีความแตกต่างจากจีโอพาร์คโลก ที่มีอยู่ 177 แห่งทั่วโลก คือ เป็นดินแดนแห่งเควสตาและ ฟอสซิล (Cuesta & Fossil Land) ที่เชื่อมโยงกับระบบนิเวศป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และวิถีชีวิตผู้คนกว่า 4,000 ปี ในพื้นที่ภูมิศาสตร์บริเวณลุ่มน้ำลำตะคองตอนกลางถึงตอนล่าง

     หัวใจสำคัญ คือ เป็นพื้นที่ภูมิประเทศ และแหล่งธรณีวิทยามีคุณค่าในระดับนานาชาติ รวมทั้งแหล่งธรรมชาติอื่น ๆ และวัฒนธรรมสำคัญ ที่สัมพันธ์กับแหล่งธรณีวิทยา และมีการบริหารจัดการแบบองค์รวม ทั้งการอนุรักษ์ ศึกษา และการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมบริหารจัดการเชื่อมโยงเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น

    สำหรับอุทยานธรณีโคราชมีพื้นที่ทั้งหมด เท่ากับ 3,167.38 ตารางกิโลเมตรครอบคลุมพื้นที่ 5 อำเภอของจังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วย อำเภอสีคิ้ว อำเภอสูงเนิน อำเภอขามทะเลสอ อำเภอเมืองนครราชสีมา และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ มีแหล่งธรณีวิทยา 25 แห่ง แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรม 10 แห่ง และเป็นแหล่งซากช้างดึกดำบรรพ์หลากหลายสกุลสุดในโลก มีการตกตะกอนทับถมของแม่น้ำมากกว่า 150 ล้านปีก่อน พร้อมกับฝูงไดโนเสาร์และสัตว์ร่วมสมัย จนถึงยุคสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่หลากหลาย และต่อมาเป็นประตูสู่แดนอีสานและอินโดจีน รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการคมนาคม ขนส่ง อุตสาหกรรม การค้า และการท่องเที่ยว และอาจเรียกได้ว่าโคราชจีโอพาร์คเป็น “ดินแดนแห่งเควสตาและฟอสซิล” ที่สมบูรณ์แบบจนได้รับจากยูเนสโกรับรองให้ โคราชจีโอพาร์ค เป็นอุทยานธรณีโลก

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

 


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,250,727