หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา หรือหอดูดาวภูมิภาค ฉะเชิงเทรา เป็นหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนเต็มรูปแบบ แห่งที่ 2 ของประเทศไทย ตั้งอยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา มีเป้าหมายหลักเพื่อให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ ดาราศาสตร์สำหรับประชาชน และสถานศึกษาในท้องถิ่น รวมถึงสนับสนุนการบริการวิชาการด้านดาราศาสตร์แก่ชุมชน สนับสนุนการจัดการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา และเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวิชาการที่สำคัญของภูมิภาคอีกด้วย
ภายในหอดูดาวภูมิภาค ฉะเชิงเทรา มีสิ่งที่น่าสนใจหลายจุดด้วยกัน ได้แก่
1. อาคารฉายดาวที่มีโดมฉายดาว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 เมตร ติดตั้งเครื่องฉายดาวระบบฟูลโดมดิจิทัล ความละเอียด 25 ล้านพิกเซล รองรับการฉายดาวด้วยโปรแกรมดูดาว Stellarium สามารถแสดงภาพดวงดาวบนท้องฟ้าตามวัน และเวลาที่ต้องการ ฉายภาพดาวฤกษ์ ภาพกลุ่มดาว ภาพกลุ่มดาวในจินตนาการ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ กาแล็กซี เนบิวลา กระจุกดาว และดาวเคราะห์ต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้ยังสามารถอธิบายและให้ความรู้เกี่ยวกับทรงกลมท้องฟ้า ระบบพิกัดท้องฟ้า รวมถึงฉายภาพยนตร์จำลองระบบสุริยะ วัตถุในห้วงอวกาศลึก และภาพยนตร์ทางดาราศาสตร์ต่าง ๆ
2. อาคารนิทรรศการดาราศาสตร์ จัดแสดงในรูปแบบชุดการเรียนรู้ดาราศาสตร์แบบมีปฏิสัมพันธ์ เพื่อให้ผู้เข้าชมได้เรียนรู้เสมือนจริง ประกอบด้วยนิทรรศการทั้งหมด 14 โซน เช่น สเปกตรัมกับการค้นพบทางดาราศาสตร์, การสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์, แสงกับภาพถ่ายดาราศาสตร์, การสำรวจดวงจันทร์ และฤดูกาลและการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์
3. อาคารหอดูดาว ภายในติดตั้งกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร เป็นกล้องโทรทรรศน์หลักสำหรับงานวิจัยทางดาราศาสตร์ ควบคุมการทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ และมีช่องมองภาพให้ผู้เข้าชมได้ส่องดูวัตถุท้องฟ้าต่าง ๆ ที่น่าสนใจ นอกจากนี้สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์สำหรับงานวิจัยทางดาราศาสตร์ อาทิ สเปกโทรกราฟ และเครื่องมือทาง ดาราศาสตร์อื่น ๆ เป็นต้น
4. อาคารศูนย์การเรียนรู้ดาราศาสตร์ สำหรับจัดกิจกรรมการเรียนรู้ อบรม บรรยาย จัดค่ายดาราศาสตร์ และจัดแสดงนิทรรศการดาราศาสตร์
5. แบบจำลองวงโคจรของระบบสุริยะ (Planet Walk) ซึ่งออกแบบจากความต้องการให้เกิดการเรียนรู้ดาราศาสตร์ ระหว่างการเดินชมบริเวณโดยรอบ และเนื่องจากระบบสุริยะเป็นพื้นฐานของดาราศาสตร์เป็นสิ่งที่คนคุ้นเคย จึงนำระบบสุริยะมาผนวกเข้ากับส่วนต่าง ๆ ของหอดูดาวฯ เพื่อให้เข้าใจเรื่องราวของพื้นที่ได้ง่ายขึ้น โดยมีอาคารฉายดาวเปรียบเสมือนดวงอาทิตย์ที่เป็นจุดศูนย์กลางของระบบสุริยะ เป็นจุดศูนย์กลางถ่ายทอดเรื่องราวของดาราศาสตร์ให้กับผู้สนใจ
6. สโตนเฮนจ์จำลอง เป็นวงกลมที่ใช้ในการสังเกตตำแหน่ง ขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ ในวันครีษมายันที่กลางวันยาวที่สุด และในวันเหมายันที่กลางวันสั้นที่สุด การสังเกตตำแหน่งดวงอาทิตย์ขึ้นจากกึ่งกลางสโตนเฮนจ์นี้ จึงทำให้มนุษย์ยุคโบราณสามารถคำนวณได้ว่าหนึ่งปีมี 365 วัน และทำนายได้ว่าฤดูกาลจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
สำหรับสโตนเฮนจ์จำลองนี้ เป็นสโตนเฮนจ์ที่ย่อส่วนลงมาเหลือเพียงหนึ่งในสาม แล้วหันทิศทางให้สอดคล้องกับ ละติจูด 13.6°N ซึ่งเป็นที่ตั้งของหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดฉะเชิงเทรา
7. สัมราฏยันตระจำลอง สัมราฏยันตระ (Samrat Yantra) ที่นำมาจำลองในนี้ เป็นหอสังเกตการณ์เก็บข้อมูลทางดาราศาสตร์ ทำหน้าที่เป็นนาฬิกาแดดเพื่อบอกเวลา เป็นหนึ่งในอนุสรณ์จากอนุสรณ์สถานยันตระมันตรา (Jantar Mantar) ที่เมืองชัยปุระ (Jaipur) ประเทศอินเดีย
นอกจากนี้ยังมี กำแพงภาพวาดดาราศาสตร์, ลานดูดาวสำหรับจัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์ เช่น จัดกิจกรรมสังเกตวัตถุท้องฟ้า หรือปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ต่าง ๆ , สวนพฤกษศาสตร์หอดูดาว และยังมีลานกางเต็นท์ ที่เป็นลานกว้างสำหรับให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมกางเต็นท์พักค้างแรม เมื่อเข้าร่วมกิจกรรมค่ายดาราศาสตร์ และกิจกรรมสังเกตปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์อีกด้วย
การให้บริการวิชาการ เน้นสร้างความตระหนักและสื่อสารดาราศาสตร์ไปสู่สาธารณะชน ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทุกระดับ ทั้งเด็กและเยาวชน ครูอาจารย์ ประชาชนทั่วไป และนักดาราศาสตร์สมัครเล่น เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ กระตุ้นความสนใจ ยกระดับและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ละกิจกรรมที่จัดขึ้นได้คำนึงถึงเนื้อหาที่เหมาสมและสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย เช่น
หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา เปิดให้บริการวันอังคาร-วันอาทิตย์ (ปิดทำการทุกวันจันทร์) โดยผู้ที่สนใจเข้าชมท้องฟ้าจำลองระบบฟูลโดมดิจิทัล ชมภาพยนตร์ดาราศาสตร์ พร้อมเรียนรู้ระบบสุริยะและกลุ่มดาว จะเปิดบริการวันอังคาร-วันอาทิตย์ วันละ 2 รอบ คือ 11.00 น. และ 15.00 น. และวันอาทิตย์ 2 รอบเวลา 10.00 น. และ 14.00 น. รอบละ 1 ชั่วโมง มีค่าใช้จ่ายบุคคลทั่วไป คนละ 50 บาท ส่วนนักเรียน นักศึกษา คนละ 30 บาท เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ภิกษุ สามเณรและผู้พิการ เข้าฟรี
ส่วนวันเสาร์จะมีกิจกรรมดูดาว (Narit Public Night) เป็นการดูดาวและวัตถุท้องฟ้าผ่านกล้องโทรทรรศน์หลากหลายชนิด ในช่วงเวลา 18.00-20.00 น. บริการฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
ผู้ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา : เลขที่ 999 หมู่ที่ 3 ต.วังเย็น อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา 24190
โทรศัพท์ : 0 3858 9395, 08 4088 2264