เกาะหมาก พื้นที่แหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ

       อาจจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับคนที่กำลังหาที่เที่ยวทางทะเล แบบเงียบสงบ ไม่มีสถานบันเทิง และยังคงรักษาสภาพเดิมบนเกาะเกือบ 100% เรากำลังพูดถึงเกาะหมาก 

       เกาะหมาก เป็นเกาะที่ใหญ่รองลงมาจากเกาะช้างและเกาะกูด ตั้งอยู่ระหว่างเกาะช้างกับเกาะกูด ห่างจากฝั่งประมาณ 38 กิโลเมตร อยู่ที่ ต.เกาะหมาก อ.เกาะกูด จ.ตราด มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 9,500 ไร่ เป็นที่สาธารณะประโยชน์ 500 ไร่ มีรูปร่างคล้ายดาวสี่แฉก 

       จุดเด่นของเกาะหมาก อยู่ตรงที่บรรยากาศโดยรอบของที่นี่จะเงียบสงบมาก ไม่มีสถานบันเทิงหรือสถานที่ท่องเที่ยวที่หวือหวา สภาพบนเกาะยังคงเดิมเกือบ 100% เต็มไปด้วยสวนมะพร้าว สวนผลไม้ และสวนยางของชาวบ้าน และพื้นที่ส่วนหนึ่งจะเป็นที่ราบชายฝั่งทะเล จึงมีอ่าวและหาดทรายสวยงามหลายแห่ง เช่น อ่าวขาว, อ่าวสวนใหญ่, อ่าวนิด, อ่าวไผ่, อ่าวพระ, อ่าวตาล, อ่าวลม และอ่าวโปร่ง เป็นต้น ทำให้น้ำทะเลโดยรอบเกาะจะเป็นสีฟ้าใส สามารถเล่นน้ำและดำน้ำชมปะการังได้อย่างจุใจ

       แน่นอนว่า มาถึงเกาะหมากทั้งที ก็ต้องขอไปสัมผัสน้ำทะเลสวย ๆ ใส ๆ กันหน่อย โดยเกาะหมากนี้ถือว่าเหมาะสมมากในการท่องเที่ยวทางทะเล เพราะเป็นเกาะระหว่างกลางของหมู่เกาะช้าง แวดล้อมไปด้วยเกาะเล็กเกาะน้อยมากมาย เป็นดังจุดเชื่อมไปยังเกาะอื่น ๆ เพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ดำน้ำดูปะการัง เที่ยวเกาะต่าง ๆ โดยรอบ

       สำหรับจุดดำน้ำสุดฮิต เมื่อมาเที่ยวเกาะหมาก ก็คือการไปดำน้ำกันที่ "หมู่เกาะรัง" ที่อยู่ในความดูแลของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง จุดดำน้ำของที่นี่จะอยู่บริเวณเกาะยักษ์เล็กและเกาะยักษ์ใหญ่ที่มีหมู่ปลา และแนวปะการังที่อุดมสมบูรณ์อยู่รอบเกาะ สามารถดำน้ำตื้นเที่ยวชมกันได้

       อีกทั้ง เกาะหมาก เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีธรรมชาติสวยงาม เงียบสงบ ปลอดภัย และเป็นต้นแบบของแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (Eco-Tourism) คาร์บอนต่ำ (Low carbon destination) ที่มีการรักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อไปสู่เป้าหมายการเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอย่างเป็นระบบ ตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก 

       โดยหนึ่งในเป้าหมายสำคัญ คือ การปกป้องสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สร้างประโยชน์ต่อธุรกิจและชุมชนในท้องถิ่น โดยสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้ควบคู่กันไป ตัวอย่างเช่น โรงแรมฮิลตัน ได้นำแพลตฟอร์ม ที่เรียกว่า Lightstay มาใช้เพื่อติดตามข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมแบบเรียลไทม์ ได้แก่ พลังงาน คาร์บอน น้ำ ของเสีย และตัวชี้วัดกระทบทางสังคม รวมทั้งการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบและบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของธุรกิจในเครือซึ่งมีอยู่ทั่วโลกเกือบ 6,000 แห่ง ซึ่งทำให้ธุรกิจเกิดการลดต้นทุนและการใช้พลังงานในขณะที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย

       อย่างทุกวันนี้ เกาะหมากจะบริหารจัดการในเรื่องของขยะเป็นอันดับแรก ลดการใช้ถุงพลาสติกและรณรงค์ให้ประชาชนคัดแยกที่ต้นทาง พอไปถึงปลายทางก็จะคัดแยกอย่างละเอียดอีกที จะลดในเรื่องของการเผาให้ได้มากที่สุด โดยการคัดแยกพลาสติกแล้วก็จะอัดแห้งส่งขึ้นให้กับโรงงานที่รับซื้ออีกที ปรับวิธีการกำจัดจากทั้งหมดจะเผาก็หันมาใช้ทำเป็นปุ๋ย อนาคตต่อไปเกาะหมากก็จะไม่มีการเผา เราจะแยกขยะในลักษณะของ RDF ให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ Refuse Derived Fuel: RDF หมายถึง ขยะที่เผาไหม้ได้ โดยการนําขยะมูลฝอยมาผ่านกระบวนการบําบัดทางกายภาพ เช่น การคัดแยก การลดขนาด และการลดความชื้น 

       รวมถึงการใช้รถหรือยานพาหนะ จะรณรงค์เรื่องการใช้รถไฟฟ้า เกาะหมากจะมีรถรางไฟฟ้าไว้ใช้งานและให้บริการกับประชาชนบนเกาะด้วย รถเช่าสำหรับใช้ท่องเที่ยว องค์การบริหารส่วนตำบลขอความร่วมมือให้ปรับเปลี่ยนมาใช้เป็นระบบรถไฟฟ้า หรือในรูปแบบของจักรยาน ทำให้บนเกาะหมากมีทั้งจักรยานธรรมดาและจักรยานไฟฟ้า ซึ่งมีหลายรีสอร์ตที่ปรับมาเป็นรถไฟฟ้าให้กับนักท่องเที่ยวได้เช่าในราคาไม่แพงมาก เรียกว่า เป็นการมีส่วนร่วมในเรื่องของการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การประหยัดพลังงาน ตัวรีสอร์ตเองจะได้ประโยชน์จากค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เกินครึ่ง คนที่เข้าร่วมและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์จะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นการช่วยลดภาวะโลกร้อนอีกด้วย

ส่วนวิธีการเดินทางมายัง เกาะหมาก 

- สำหรับการเดินทางจากกรุงเทพฯ ถ้าใครขับรถมาเอง ที่บริเวณท่าเรือแหลมงอบจะมีที่รับฝากรถให้บริการ ส่วนถ้าใครไม่มีรถส่วนตัว สามารถขึ้นรถโดยสารประจำทางได้ที่สถานีขนส่งเอกมัย มีหลายบริษัทให้บริการ และควรแจ้งพนักงานตั้งแต่ตอนซื้อตั๋วว่าจะลงที่ท่าเรือแหลมงอบ เพื่อที่พนักงานจะได้แจ้งให้คนขับรถทราบ

- จากนั้นนักท่องเที่ยวจะมาขึ้นเรือสปีดโบต เพื่อไปเกาะหมากที่บริเวณท่าเรือแหลมงอบ (ท่าเรือกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์)

- โดยเรือสปีดโบตที่ให้บริการไปยังเกาะหมากมีหลายบริษัท ใช้เวลาเดินทางประมาณ 45-60 นาทีก็จะถึง


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,249,965