การตรวจคนประจำพาหนะเดินทางเข้าไทยโดยพาหนะทางน้ำ

การตรวจคนประจำพาหนะเดินทางเข้าไทยโดยพาหนะทางน้ำ

     การเดินทางเข้ามาในประเทศไทย สามารถเดินทางเข้ามาได้หลายเส้นทางตามความสะดวกของแต่ละคน ซึ่งสำหรับการเดินทางเข้ามาโดยพาหนะทางน้ำ เช่น เรือ ผู้ที่เป็นเจ้าของ หรือผู้ที่ควบคุมพาหนะนั้น ๆ จะต้องยื่นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับพาหนะ รวมถึงเอกสารต่าง ๆ ของคนประจำพาหนะนั้นด้วยเช่นกัน

เอกสารที่ใช้

  1. รายการเกี่ยวกับพาหนะ (ตม.2/1)
  2. บัญชีคนประจำพาหนะ (ตม.4/1)
  3. หนังสือเดินทาง หรือเอกสารประจำตัวของคนประจำพาหนะ เช่น Seaman’ Discharge Book, Seaman Book
  4. บัญชีรายชื่อและลายมือชื่อ (หรือพิมพ์ลายนิ้วมือ) ของผู้ควบพาหนะและคนประจำพาหนะ (ตม.36)
  5. ใบคำร้องขออนุญาตให้คนประจำพาหนะออกจากพาหนะ (ตม.33)
  6. ใบสำคัญถิ่นที่อยู่ (ตม.15 หรือ ตม.16 หรือ ตม.16 ย.ว. หรือ ตม.17 (ถ้ามี) )

ขั้นตอนและวิธีปฏิบัติ

     1. เจ้าของหรือผู้ควบคุมพาหนะ แจ้งกำหนดวัน และเวลาที่พาหนะจะเข้ามาถึงท่า สถานี หรือตำบลในประเทศไทย ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งควบคุม ท่า สถานี หรือ ตำบลนั้น ๆ ก่อนที่พาหนะจะมาถึงภายในกำหนดที่ประกาศไว้ในแบบ ตม.2/1 
กรณีไม่สามารถปฏิบัติตามดังกล่าวได้ ให้เจ้าของ หรือผู้ควบคุมยานพาหนะรายงานต่อเจ้าหน้าที่ ณ ด่านตรวจคนเข้าเมืองที่ใกล้ที่สุด กับเส้นทางที่เข้ามา ภายหลังที่พาหนะเข้ามาในประเทศไทยแล้ว เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจพาหนะให้ทันตามกำหนดวัน และเวลาที่ได้รับแจ้งไว้ 
     2. เจ้าหน้าที่ตรวจดูบัญชีคนประจำพาหนะ ตามที่เจ้าของหรือผู้ควบคุมพาหนะ ยื่นต่อเจ้าหน้าที่ กรอกข้อความตามรายการในบัญชีนั้น ๆ ว่าถูกต้องหรือไม่
     3. เจ้าหน้าที่ตรวจสอบบัญชีคนประจำพาหนะ (CREW LIST) ตามที่ผู้ควบคุมยานพาหนะยื่นต่อเจ้าหน้าที่ควบคุมท่า หรือสถานี ณ ที่ทำการตรวจคนเข้าเมือง  (แบบ ตม.4/1) โดยตรวจสอบกับเอกสารประจำตัวคนประจำพาหนะ (Seaman’ Discharge Book, Seaman Book) หรือเอกสารหนังสือเดินทาง และให้ตรวจสอบบัญชีรายชื่อลูกเรือประจำเรือ (SHIP ARTICLE) ของพาหนะทางน้ำด้วย (ถ้ามี) พร้อมทั้งตรวจสอบบัญชีบุคคลต้องห้าม (BLACK LIST) 
     4.เมื่อตรวจสอบหลักฐานว่าถูกต้อง  ผู้ควบคุมพาหนะ และคนประจำพาหนะ ลงลายมือชื่อในแบบ ตม.36 เพื่อเป็นหลักฐานในการตรวจสอบเมื่อกลับออกจากประเทศไทย  
     5. ผู้ควบคุมพาหนะ หรือคนประจำพาหนะทางน้ำ ที่เดินทางระหว่างท่าเรือต่างประเทศเข้ามาประเทศไทย หากจำเป็นต้องขึ้นจากพาหนะนั้น ให้ยื่นคำร้องตามแบบ ตม.33 เมื่อตรวจสอบไม่ปรากฏเป็นบุคคลต้องห้าม อนุญาตให้ขึ้นได้ และเจ้าหน้าที่ออกหนังสือสำคัญประจำตัวตามแบบ ตม.1 ไว้เป็นหลักฐาน โดยมีเงื่อนไขต้องกลับออกไปกับพาหนะที่เข้ามา
     6. กรณีตรวจพบคนประจำพาหนะ เป็นบุคคลต้องห้าม เจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งไม่อนุญาตให้ขึ้นจากพาหนะนั้น และแจ้งให้ผู้ควบคุมพาหนะทราบ เพื่อให้ควบคุมตัวไว้ในพาหนะนั้นและยึดเอกสารประจำตัว และคืนให้เมื่อพาหนะนำคนประจำพาหนะนั้นออกจากประเทศไทยแล้ว   
     7. เจ้าของ หรือผู้ควบคุมพาหนะ เสียค่าธรรมเนียมในการตรวจบุคคลและพาหนะ  

ที่มา : ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดพังงา 
37 หมู่ 3 ต.ถ้ำน้ำผุด อ.เมือง จ.พังงา

เบอร์ติดต่อ : 0 7546 0512
ข้อมูลเพิ่มเติม


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,249,191