การขอรับบุตรบุญธรรม กรณีครอบครัวบุญธรรมไทยรับเด็กกำพร้าในอุปการะของกรมกิจการเด็กและเยาวชน

     “บุตรบุญธรรม” เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนอยากมีลูก ซึ่งแนวโน้มของการรับเด็กมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมเพิ่มสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งหนุ่มโสด สาวโสด หรือคนที่แต่งงานนานแล้วแต่ไม่สามารถมีลูกเองได้ หลายคนก็หันมาเลือกใช้วิธีนี้ การ “รับบุตรบุญธรรม” เป็นหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างบิดามารดาที่แท้จริงกับผู้รับบุตรบุญธรรม มีผลทำให้สิทธิและหน้าที่ในฐานะบิดามารดาที่แท้จริงถูกโอนไปยังผู้รับบุตรบุญธรรม ซึ่งการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมมี 2 กรณี ดังนี้

     1. กรณีผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมเป็นผู้เยาว์ ให้ยื่นคำร้องเพื่อขออนุมัติจากคณะกรรมการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ถ้าผู้จะขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ที่มีภูมิลำเนาในเขตกรุงเทพมหานคร หรือเป็นชาวต่างประเทศที่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย ยื่นคำร้องที่ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ถ้ามีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดยื่นคำร้องได้ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด เมื่อได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว ต้องยื่นคำร้อง ขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำอนุมัติ ในกรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการจดทะเบียนภายใน 6 เดือนได้ ผู้จะขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมต้องยื่นคำร้องแสดงพฤติการณ์พิเศษต่อคณะกรรมการ เพื่อให้พิจารณาขยายระยะเวลาออกไปอีกได้ไม่เกิน 3 เดือน นับแต่วันที่พฤติการณ์พิเศษนั้นสิ้นสุดลง 
     2.กรณีผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมบรรลุนิติภาวะแล้ว และมีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมาย สามารถยื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมต่อนายทะเบียน โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม

เอกสารหลักฐานที่ต้องใช้ประกอบ มีดังนี้

  1. บัตรประจำตัวประชาชน
  2. หนังสือแจ้งผู้ขอรับเด็ก
  3. หนังสือมอบอำนาจ พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ โดยเอกสารที่เป็นสำเนาให้รับรองสำเนาถูกต้องทุกฉบับ

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข

     ต้องผ่านการพิจารณาคุณสมบัติของผู้รับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว (ตามคู่มือการขึ้นทะเบียนผู้ที่มีคุณสมบัติรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม กรณีครอบครัวบุญธรรมไทยรับเด็กกำพร้าในความอุปการะของกรมกิจการเด็กและเยาวชน) โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522

คุณสมบัติของผู้ที่จะรับบุตรบุญธรรม และผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรม 

  • ผู้รับบุตรบุญธรรมต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และต้องมีอายุแก่กว่าผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี
  • ผู้เป็นบุตรบุญธรรมที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี ต้องให้ความยินยอมด้วยตนเอง
  • ผู้เป็นบุตรบุญธรรมที่เป็นผู้เยาว์ต้องได้รับความยินยอมจาก บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง  
  • ผู้จะรับบุตรบุญธรรม หรือผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม ถ้ามีคู่สมรสอยู่ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสก่อน
  • ผู้เยาว์ที่เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลใดอยู่จะเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นอีก ในขณะเดียวกันไม่ได้ เว้นแต่เป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม

ข้อมูล ณ วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2566 
ที่มา : สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล 
เบอร์ติดต่อ : 0 2612 6060

 


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,253,112