การส่งออกของไปต่างประเทศแบบเร่งด่วน 3 ประเภท

      สำหรับผู้ให้บริการซื้อสินค้าออนไลน์ที่วางแผนทางธุรกิจ และจัดให้มีการขายและส่งสินค้าไปยังต่างประเทศ หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไปที่มีความจำเป็นต้องส่งของไปต่างประเทศ โดยใช้บริการของผู้ประกอบการของเร่งด่วน (express consignment) ซึ่งได้แก่ Fed Ex, UPS, DHL, TNT สินค้าหรือสิ่งของต่าง ๆ ของผู้รับบริการจะถูกคัดแยกออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

ประเภทที่ 1 ได้แก่ เอกสารต่าง ๆ ที่ไม่ต้องเสียอากรตามภาค 3 พิกัดอัตราขาออก แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร  พ.ศ. 2530 และไม่เป็นของต้องห้ามต้องกำกัด ผู้ประกอบการของเร่งด่วนจัดทำใบขนสินค้าขาออกในนามของผู้ประกอบการของเร่งด่วน และเมื่อผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรจะนำไปบรรทุกในอากาศยานเพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร

ประเภทที่ 2 ได้แก่ ของที่ส่งออกไปนอกราชอาณาจักรภายใต้เงื่อนไขต่อไปนี้

      1. เป็นของซึ่งไม่ต้องเสียอากร หรือได้รับยกเว้นอากร ตามภาค 3 พิกัดอัตราขาออก แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 โดยแต่ละรายใบตราส่งสินค้าทางอากาศยาน มีราคา FOB (Free on Board) ไม่เกินฉบับละ 500,000 บาท

      2. ไม่เป็นของต้องห้ามต้องกำกัด หรือของต้องมีเอกสารการอนุญาต/อนุมัติ/รับรองในการปฏิบัติพิธีการศุลกากรตามกฎหมาย หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับศุลกากร

      3. ไม่เป็นของขอใช้สิทธิประโยชน์ หรือสิทธิพิเศษทางภาษีอากรอื่น ๆ เช่น เขตปลอดอากร คลังสินค้าทัณฑ์บน การคืนอากรทั่วไป การคืนอากรตามมาตรา 28 และมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 เขตประกอบการเสรีตามพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2550 การชดเชยค่าภาษีอากรตามพระราชบัญญัติชดเชยค่าภาษีอากรของส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร พ.ศ. 2524 การยกเว้นหรือลดหย่อนอากรตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 เป็นต้น

      4. ไม่เป็นของซึ่งขอใช้สิทธิยกเว้นอากรตามภาค 4 ของที่ได้รับยกเว้นอากรตามภาค 4 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530

      ผู้ประกอบการของเร่งด่วนจัดทำใบขนสินค้าขาออกในนามของผู้ประกอบการของเร่งด่วน เมื่อผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรจะนำไปบรรทุกในอากาศยานเพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร

ประเภทที่ 3 ของอื่น ๆ นอกเหนือจากประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 ผู้ส่งออกจัดทำใบขนสินค้าขาออก เมื่อผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ศุลกากร จะสามารถนำของไปบรรทุกในอากาศยานเพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร

ข้อมูล ณ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 

ที่มา : กรมศุลกากร 

โทร. 1164 หรือ 0 2667 6107 ต่อ 8


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,250,843