การส่งของทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศกับการคัดแยก 3 ประเภท

      ในปัจจุบัน “การขนส่ง” เข้ามามีบทบาทในการทำธุรกิจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในธุรกิจซื้อขายสินค้าออนไลน์ ซึ่งในบางครั้งอาจมีลูกค้าชาวต่างชาติที่ติดต่อซื้อสินค้าจากประเทศไทย บางครั้งก็เป็นการซื้อสินค้าจากต่างประเทศและมีการนำเข้ามาในประเทศไทย จนเกิดความต้องการในการใช้บริการ “ส่งของระหว่างประเทศ” 

      การส่งของทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ สามารถดำเนินการผ่าน บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด โดยสามารถดำเนินการได้ 5 ประเภท คือ ทางอากาศ, ภาคพื้น, EMS, ไปรษณีย์ลงทะเบียน, ไปรษณีย์ธรรมดา โดยในส่วนของการนำเข้าสิ่งของเข้ามาในราชอาณาจักรไทย จะถูกคัดแยกออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

ประเภทที่ 1 คือ ของซึ่งแต่ละหีบห่อมีราคารวมค่าขนส่งและค่าประกันภัยไม่เกิน 1,500 บาท หรือตัวอย่างสินค้าที่ใช้ได้แต่เพียงเป็นตัวอย่าง และไม่มีราคาในทางการค้า ไม่เป็นของต้องห้ามหรือต้องกำกัดในการนำเข้า เป็นของยกเว้นอากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิต และภาษีมูลค่าเพิ่ม เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะส่งมอบให้บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อนำจ่ายให้ผู้รับต่อไป

ประเภทที่ 2 คือ ของที่ส่งจากผู้ส่งคนหนึ่งถึงผู้รับคนหนึ่งในคราวเดียวกันหรือเข้ามาถึงพร้อมกัน ไม่ว่าจะมีจำนวนกี่หีบห่อหากมีราคา FOB (Free On Board) รวมกันไม่เกิน 40,000 บาท และไม่เป็นของต้องห้ามต้องกำกัด หรือของที่ต้องส่งตัวอย่างวิเคราะห์สินค้าก่อนปล่อย เป็นของต้องชำระอากร โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรเปิดตรวจของต่อหน้าเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ไทย จำกัด ประเมินราคาและค่าภาษีอากรทุกประเภท เจ้าหน้าที่ศุลกากรส่งมอบของให้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อนำจ่ายให้ผู้รับ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ใกล้ที่อยู่ของผู้รับ 

ประเภทที่ 3 ของอื่น ๆ นอกจากประเภทที่ 1 และ 2 เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะส่งมอบของให้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อนำไปเก็บรักษาในโรงพักสินค้า บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือส่งไปที่ สำนักงาน/ด่านศุลกากรแล้วแต่กรณี ผู้รับของนำ "ใบแจ้งให้ไปรับสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ" ไปติดต่อรับของ/ชำระภาษีอากร ณ ส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์ หรือสำนักงาน/ด่านศุลกากรที่ระบุไว้ในใบแจ้งฯ การปฏิบัติพิธีการศุลกากรสำหรับของประเภทที่ 3 สามารถดำเนินการได้ 2 กรณี คือ
      1. กรณีของมีราคา FOB เกินกว่า 40,000 บาท ผู้รับของจะต้องจัดทำใบขนสินค้าขาเข้าโดยการส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เข้าระบบคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากร ซึ่งส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์ ได้จัดเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำการจัดทำใบขนสินค้าขาเข้า โดยมีผู้ให้บริการ Service Counter คอยให้บริการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย
      2. กรณีของมีราคา FOB ไม่เกิน 40,000 บาท ผู้รับของไม่ต้องจัดทำใบขนสินค้าขาเข้า เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะประเมินราคาและจัดเก็บค่าภาษีอากร ณ จุดเดียวกัน

ข้อมูล ณ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 

ที่มา : กรมศุลกากร 

โทร. 1164 หรือ 0 2667 6107 ต่อ 8 


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,245,612