แบตเตอรี่ที่ใช้กับรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) ที่ใช้แพร่หลายชนิดหนึ่ง คือ แบตเตอรี่ลิเธียม ไอออน เป็นชนิดเดียวกับที่ใช้ในโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต มีน้ำหนักเบา อายุการใช้งานนาน ให้พลังงานสูง ชาร์จไฟได้เร็ว เก็บประจุไฟฟ้าได้ดีไม่มีส่วนประกอบที่เป็นอันตรายต่อธรรมชาติ แต่ก็มีข้อเสียคือหายากทำให้แบตเตอรีมีราคาแพง อีกทั้งเมื่อเข้าไปอยู่ในรถยนต์ไฟฟ้าต้องใช้จำนวนแบตเตอรี่ที่มีขนาดใหญ่มากก็ยิ่งทำให้ราคาสูงขึ้นตามไปด้วย
ในปี 2564 ประเทศไทยมีโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ระดับ Gigafactory แห่งแรก ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีกำลังการผลิตสูงถึง 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งนอกจากจะเสริมศักยภาพการเติบโตของรถ EV แล้ว ยังช่วยลดภาวะโลกร้อน และสนับสนุนความยั่งยืน
ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สนับสนุนธุรกิจแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ด้วยการขยายนโยบายลดภาษีนำเข้าชิ้นส่วน และวัตถุดิบที่ใช้ผลิตแบตเตอรี่ จาก 2 ปี เป็น 5 ปี และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ซึ่งหากตั้งอยู่ในพื้นที่ EEC จะได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีเงินได้ 50% เพิ่มอีก 5 ปี ทำให้บริษัทที่อยู่ในธุรกิจแบตเตอรี่มีความต้องการขยายกำลังการผลิตเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ดี แร่ลิเธียมในประเทศไทยมีไม่มากนักทำให้ต้องนำเข้ามาเพื่อใช้ผลิตแบตเตอรี่ ทำให้ขณะนี้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับบริษัทเอกชนกำลังพัฒนาแบตเตอรี่รถ EV ที่ใช้สังกะสีเป็นวัตถุดิบเพราะแร่ชนิดนี้ที่มีอยู่ในประเทศไทยจำนวนมาก โดยอยู่ระหว่างการศึกษา และทดลอง ในอนาคตหากสามารถผลักดันการใช้แบตเตอรี่จากสังกะสีได้ก็จะทำให้ไทยมีเทคโนโลยีของตัวเองจากวัตถุดิบที่มีอยู่ในประเทศไทยซึ่งเอื้อต่อการผลิตในเชิงพาณิชย์
ที่มา: บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด (BMB)
เบอร์โทรศัพท์: +66 2-1180080