แนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ไม่ใช่การสร้างเมืองใหม่ที่นำเอาเทคโนโลยีมาใช้ แต่หมายถึงการพัฒนาเมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการ และการบริหารจัดการเมืองภายใต้แนวคิดการพัฒนาเมืองน่าอยู่เมืองทันสมัยให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความสุขอย่างยั่งยืน
โดยมีเกณฑ์วัดความเป็นเมืองอัจฉริยะทั้งหมด 7 ด้าน คือ
1. สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) เพิ่มคุณภาพ การจัดการน้ำ อากาศ ขยะ และพื้นที่สีเขียวให้เป็นไปตามมาตรฐาน และลด CO2 Emission มากกว่าหรือเท่ากับ 1% ต่อปี
2. การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) เพิ่มความสะดวก ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยในการเดินทางและขนส่ง ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้าให้มีผู้เสียชีวิตจากการเดินทางบนถนนลดลง 50% ต่อปี
3. ชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) มุ่งเน้นให้บริการที่อำนวยความสะดวกต่อการดำรงชีวิต ทั้งด้านสุขภาพ สุขภาวะที่ดี และการเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมสูงอายุ และการเพิ่มความปลอดภัยของประชาชนด้วยการเฝ้าระวังภัยจากอาชญากรรม มากกว่าหรือเท่ากับ 80% ต่อปี
4. พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) มุ่งเน้นพัฒนาพลเมืองให้มีความรู้ และสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการดำรงชีวิต และการเรียนรู้นอกระบบ เปิดพื้นที่ Digital Literacy มากกว่า หรือเท่ากับ 70%
5. พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) เพิ่มประสิทธิภาพ หรือใช้พลังงานทางเลือกอันเป็นพลังงานสะอาด (Renewable Energy) โดยตั้งเป้าเพิ่มพลังงานทดแทนในพื้นที่มากกว่าหรือเท่ากับ 1% ต่อปี
6. เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) เพิ่มประสิทธิภาพ และความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ ตั้งเป้าเพิ่มรายได้ต่อหัวประชากรมากกว่า หรือเท่ากับ 250,000 บาท/ปี
7. การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) พัฒนาระบบบริการเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการภาครัฐสะดวก รวดเร็ว ประชาชนต้องเข้าถึงบริการข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางดิจิทัล และมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบบริการสาธารณะมากกว่าหรือเท่ากับ 60%
ข้อดีของ Smart City แน่นอนว่าทำให้คนในเมืองมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หมายถึง คนในพื้นที่นั้น ๆ ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี สุขภาพที่ดี มีรายได้ที่ดี มีความเป็นอยู่ และที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย
ประเทศไทยกำหนดพื้นที่เป้าหมายที่คัดเลือกเป็นเมืองอัจฉริยะต้นเเบบในแต่ละปี โดยปี 2561 - 2562 กำหนดเมืองอัจฉริยะ 10 เมืองใน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา และปี 2565 เมืองอัจฉริยะ 100 เมืองใน 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร
ที่มา: สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
เบอร์โทรศัพท์: +66 2026 2333