การดำเนินการเมื่อมีคนต่างด้าวเสียชีวิตในประเทศไทย

               ปัจจุบันมีคนต่างด้าวเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก หลายครั้งมักจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน อาทิ การเจ็บไข้ได้ป่วย รวมไปถึงการเสียชีวิต ซึ่งตาม พ.ร.บ. งานทะเบียนคนต่างด้าว (พ.ศ. 2493) จะต้องแจ้งการเสียชีวิตภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งมีเอกสารและขั้นตอนดังต่อไปนี้  

เอกสารที่ต้องใช้ 

             1. ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว

             2. ใบมรณบัตร

             3. สำเนา ปจว. แจ้งความกรณีใบสำคัญสูญหาย

             4. บันทึกปากคำญาติสนิทของผู้ถึงแก่กรรม

ขั้นตอนดำเนินการ

             1. เจ้าบ้านที่คนต่างด้าวตาย ต้องแจ้งการตายต่อนายทะเบียนคนต่างด้าวภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาตาย พร้อมหลักฐานใบมรณบัตร และส่งคืนใบสำคัญประจำตัวฯ ด้วย

             2. บันทึกการถึงแก่กรรมในเอกสารต้นเรื่อง

             3. บันทึกการถึงแก่กรรมในใบสำคัญประจำตัว

             4. แจ้งงานทะเบียนคนต่างด้าว กองกำกับการ 1 กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 ทราบ ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับใบสำคัญฯ พร้อมส่ง
ใบสำคัญประจำตัว และสำเนามรณบัตร

             5. กรณีใบสำคัญประจำตัวสูญหาย ให้ส่งสำเนา ปจว. ที่แจ้งความหาย พร้อมสอบสวนบันทึกปากคำญาติสนิทของผู้ถึงแก่กรรมโดยละเอียด
แจ้งส่งสำนวนการสอบสวนไปยัง งานทะเบียนคนต่างด้าว กองกำกับการ 1 กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1

ข้อควรระวัง

        1. ห้ามมิให้ญาติของผู้ถึงแก่กรรมแกะรูปถ่ายออกจากใบสำคัญประจำตัวโดยเด็ดขาด

        2. การแก้ไขให้คงรายการเดิมไว้ โดยขีดฆ่าข้อความเดิมแล้วเขียนข้อความใหม่ที่ได้รับอนุมัติให้แก้ไขไว้ในช่องรายการ

        3. หากไม่มีเอกสารต้นเรื่อง ต้องติดต่อนายทะเบียนท้องที่เดิมก่อน

        4. บันทึกการแก้ไขโดยละเอียดในหน้าที่ว่าง และลงเลขที่หนังสือของงานทะเบียนคนต่างด้าว กองกำกับการ 1 กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 ด้วย สำหรับอ้างอิงในภายหลัง


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,255,745