โมเดลเศรษฐกิจ BCG สู่เป้าหมายประเทศไทย ปี 2570

         ประเทศไทยมีการกำหนดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่ต่อยอดจากจุดแข็งของประเทศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพื่อเชื่อมโยงกับหลักคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 

         โดยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ก่อให้เกิดโอกาสใหม่ทางธุรกิจมากมาย ซึ่งเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนพัฒนา และฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยอย่างยั่งยืนในอนาคต เป็นกลไกที่มีศักยภาพสูงในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศอย่างทั่วถึง สามารถกระจายโอกาส และลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในสาขาที่ประเทศไทยมีศักยภาพ BCG ก็สามารถสร้างให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำระดับโลกได้ ประเทศไทยจึงกำหนดเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศในปี 2570 และตัวชี้วัดระดับนโยบายในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วย BCG Model ไว้ดังนี้


เป้าหมายที่ 1 คือ เพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ และยกระดับรายได้ของประชากร ซึ่งมีตัวชี้วัดความสำเร็จ คือ มูลค่า GDP ของเศรษฐกิจ BCG เพิ่มขึ้น 1 ล้านล้านบาท จากปี พ.ศ. 2561 มีสัดส่วนผลิตภัณฑ์ และบริการมูลค่าสูงเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า ร้อยละ 20 และการเพิ่มขึ้นของรายได้ของเศรษฐกิจฐานราก
ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50


เป้าหมายที่ 2 คือ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยมีตัวชี้วัดความสำเร็จ คือ การลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ 10 ล้านคน จำนวนผู้ประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร และทุพโภชนาการต่ำกว่าร้อยละ 5 จำนวนผู้เข้าถึงยาเวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์ราคาแพงได้แม้ในภาวะวิกฤตได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 3 แสนคน และจำนวนชุมชนที่มีความสามารถในการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 20


เป้าหมายที่ 3 คือ ด้านสร้างความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีตัวชี้วัดความสำเร็จคือ ลดการใช้ทรัพยากรลง 1 ใน 4 จากปัจจุบัน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่น้อยกว่าร้อยละ 20-25 ในปี พ.ศ. 2573 เมื่อเปรียบเทียบกับปี พ.ศ. 2548 และเพิ่มพื้นที่ป่าไม่น้อยกว่า 3.2 ล้านไร่ 


และเป้าหมายสุดท้าย คือ การพึ่งพาตนเอง มีตัวชี้วัดความสำเร็จ คือ จำนวนผู้ที่ได้รับการพัฒนาให้มีทักษะที่สูงขึ้น ไม่น้อยกว่า 1 ล้านคน มีจำนวนสตาร์ตอัปและผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับ BCG 1,000 ราย ดุลการชำระเงินทางเทคโนโลยีขาดดุลลงลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 และการนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสุขภาพลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20

ที่มา : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
เบอร์โทรศัพท์ :  0-2564-7000


ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,252,964