การบรรยายสรุปแก่คณะทูตต่างประเทศเรื่องพัฒนาการสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2568 กระทรวงการต่างประเทศพร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จัดการบรรยายสรุปแก่คณะทูตต่างประเทศ และผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารต่างประเทศประจำประเทศไทย จำนวน 93 คน จากกว่า 68 ประเทศ/องค์กร เพื่อแจ้งข้อมูลความคืบหน้าของสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา โดยเฉพาะที่สืบเนื่องจากกรณีทหารไทยเหยียบทุ่นระเบิดที่บริเวณพื้นที่ช่องบก จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2568 โดยมีนางเอกสิริ ปิณฑะรุจิ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นำการบรรยายสรุปพร้อมด้วย นางสาวพินทุ์สุดา ชัยนาม อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ พลเอก ศักดิ์สิทธิ์ แสงชนินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ และพลเรือตรี สุรสันต์ คงสิริ โฆษกศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา (ศบ.ทก.)

 

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวนำถึงวัตถุประสงค์ของการบรรยายสรุป และจุดยืนของไทยที่ประณามการวางทุ่นระเบิดดังกล่าว ซึ่งละเมิดต่ออธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของไทย และพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคลอย่างชัดเจน โดยไทยยังคงยึดหลักการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี โดยผ่านกลไกทวิภาคีที่มีอยู่ระหว่างกัน ขณะที่โฆษก ศบ.ทก. ชี้แจงข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ในมิติด้านความมั่นคง และการดำเนินการของหน่วยงานในพื้นที่ ก่อนที่ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ บรรยายสรุปถึงบทบาทของศูนย์ฯ ในบริบทของอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล การปฏิบัติการของศูนย์ฯ ต่อเหตุการณ์ดังกล่าว รวมถึงความร่วมมือทวิภาคีกับกัมพูชาในการปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม และอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ได้กล่าวถึงการดำเนินการของฝ่ายไทย ซึ่งเป็นไปตามพันธกรณีของไทยในฐานะรัฐภาคีอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ที่จะต้องรายงานการพบทุ่นระเบิดในดินแดนและการประท้วงการกระทำของฝ่ายกัมพูชา

 

นอกจากนี้ ฝ่ายไทยได้แจ้งต่อคณะทูตต่างประเทศถึงมาตรการต่าง ๆ ที่กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการ ซึ่งรวมถึง การมอบหนังสือประท้วงอย่างเป็นทางการให้ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย และเอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ได้มีหนังสือถึงเอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรญี่ปุ่นประจำการประชุมว่าด้วยการลดอาวุธ ในฐานะประธานการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาฯ วาระปัจจุบัน ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีของไทยในเรื่องนี้

 

ในช่วงท้าย ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวย้ำถึงท่าทีของไทยเรียกร้องให้กัมพูชาปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯ และร่วมมือแก้ไขปัญหาบริเวณชายแดนกับไทย ผ่านกลไกทวิภาคีที่มีอยู่ระหว่างสองประเทศ เพื่อความมั่นคงและเสถียรภาพในพื้นที่ชายแดน และความปลอดภัยของประชาชนทั้งสองฝ่าย โดยมีช่องทางหลัก ๆ ได้แก่ คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (JBC) คณะกรรมการชายแดนทั่วไป (GBC) และคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (RBC)

 

ที่มา กระทรวงการต่างประเทศ

ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 100,105,926