วันที่ 26 กรกฎาคม ของทุกปี คือ “วันสากลของการอนุรักษ์ป่าชายเลนโลก (International day for the conservation of the mangrove ecosystem)” หรือที่นิยมเรียกว่า “วันป่าชายเลนโลก” เป็นวันที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของป่าชายเลน
ป่าชายเลนทำหน้าที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำในระบบนิเวศ อยู่เชื่อมต่อระหว่างทะเลกับผืนแผ่นดิน เป็นแหล่งอาหาร และยังช่วยลดความรุนแรงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติอีกด้วย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (NBT) และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้ร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ในการพัฒนาโครงการการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชป่าชายเลนผ่านการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งเป็นเทคนิคที่สามารถช่วยเพิ่มจำนวนต้นพืชและเก็บรักษาพันธุกรรมพืชไว้ในสภาพปลอดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ วิธีการนี้ช่วยให้สามารถผลิตต้นพันธุ์ปลอดโรคที่มีคุณลักษณะเหมือนต้นแม่ทุกประการ และยังเหมาะสมสำหรับการเก็บรักษาพืชที่มีเมล็ดแบบ Recalcitrant ซึ่งไม่สามารถเก็บรักษาในสภาวะเยือกแข็งได้
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของพืชป่าชายเลนยังคงเป็นความท้าทายทางวิทยาศาสตร์ เนื่องจากพืชแต่ละชนิดต้องการสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเฉพาะตัว อีกทั้งยังมีอัตราการเจริญเติบโตที่ช้า ทำให้การวิจัยแต่ละขั้นตอนต้องใช้เวลานานและต้องปรับปรุงวิธีการตามสภาพที่แตกต่างกัน ปัจจุบัน ทีมวิจัย NBT ประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชชายเลนจำนวน 6 ชนิด รวมถึงพืชสมุนไพรที่พบในบริเวณใกล้เคียง โดยมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนการอนุรักษ์และสร้างความหลากหลายทางชีวภาพให้กับระบบนิเวศป่าชายเลนของไทย
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญในการอนุรักษ์ป่าชายเลนที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยรักษาพันธุกรรมของพืชให้คงอยู่ต่อไป แต่ยังเป็นการเสริมสร้างความหลากหลายทางชีวภาพในระยะยาวอีกด้วย สำหรับประเทศไทย ความมุ่งมั่นในครั้งนี้ถือเป็นการก้าวเดินที่สำคัญในการปกป้องและฟื้นฟูป่าชายเลนเพื่ออนาคตที่ดียิ่งขึ้น
ข้อมูลเพิ่มเติม : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
LInk : https://www.nstda.or.th