จากกรณีข่าวการเสียชีวิตของหมอลำสาวรถแห่ "ผิง ชญาดา" ที่เสียชีวิตหลังโคม่าในไอซียู และเคยได้โพสต์ถึงอาการของตนเองที่เกิดขึ้น โดยเอ่ยถึงการนวดแผนโบราณกับหมอนวดในเมืองอุดรธานีที่มีการใช้ท่า "หักคอ หรือบิดคอ" ก่อนที่อาการปวดจะทวีความรุนแรง จนต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาลในเฟซบุ๊กส่วนตัว และเสียชีวิตในเวลาต่อมา
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนกรณีสาเหตุการเสียชีวิตของผู้ป่วย “ผิง ชญาดา” ว่า ภายหลังข้อมูลการเอ็กซเรย์และการตรวจ MRI สรุปวินิจฉัยว่า ผู้ป่วยเป็นโรคไขสันหลังอักเสบและเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการนวด และขอให้ประชาชนมั่นใจเรื่องการนวดแผนไทยและการแพทย์แผนไทย เพราะกระทรวงสาธารณสุขมีการจัดทำแนวทางปฏิบัติเพื่อการตรวจคุณภาพสถานพยาบาลการแพทย์แผนไทยให้มีมาตรฐาน กรมการแพทย์แผนไทยฯ แนะนำการนวดไทยที่ถูกต้อง
นอกจากนี้แล้ว นายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้ให้ข้อมูลถึงศาสตร์การรักษา “นวดแผนไทย” ว่า การนวดไทยเป็นกระบวนการดูแลสุขภาพที่ต้องมีหลักการหรือองค์ความรู้ในการนวดตามแนวเส้นประธานสิบ ซึ่งจะช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย บรรเทาอาการปวดเมื่อย สำหรับการนวดไทยแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ
1. การนวดเพื่อผ่อนคลาย/นวดเพื่อสุขภาพ
2. การนวดเพื่อการรักษา ประกอบด้วย
2.1 หลักสูตรนวดเพื่อสุขภาพ 150 ชั่วโมง กลุ่มนี้จะไม่มีการบิด ดัด แต่เป็นการนวด คอ บ่า แขน ขา สะบักและหลัง วัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อยและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
2.2 หลักสูตรการนวดเพื่อการรักษาเป็นหลักสูตรการเรียนตั้งแต่ 330 ชั่วโมง 372 ชั่วโมง 800 ชั่วโมง และ 1,300 ชั่วโมง วัตถุประสงค์เพื่อบำบัดรักษาแต่ละกลุ่มอาการ เช่น กลุ่มปวดกล้ามเนื้อ
นิ้วล็อก หัวไหล่ติด อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น
ทั้งนี้ การนวดบริเวณคอในแพทย์แผนไทยนั้น มีวิธีการและท่าทางที่ต้องทำอย่างระมัดระวัง เนื่องจากคอเป็นบริเวณที่มีเส้นเลือดใหญ่ เส้นประสาทและกระดูกที่สำคัญ ดังนั้น การนวดในพื้นที่นี้ควรทำด้วยความรู้และความระมัดระวัง เพื่อลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บ หรือการทำให้ปัญหาที่มีอยู่รุนแรงขึ้น โดยท่านวดบริเวณคอ ประกอบด้วย
• การนวดคลึง: เป็นการคลึงเบา ๆ ที่กล้ามเนื้อบริเวณคอทั้งสองข้าง (ที่มีความตึงเครียด) โดยใช้ปลายนิ้ว หรือข้อนิ้วช่วยในการกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและบรรเทาความตึงเครียด
•การกดจุด: เป็นการใช้แรงกดในจุดต่าง ๆ บริเวณคอ เช่น บริเวณจุดต้นคอเพื่อกระตุ้นการผ่อนคลาย
•การบิดหรือหมุนคอ: เป็นการบิดคออย่างนุ่มนวลและระมัดระวัง ซึ่งไม่ควรบิดเกินขีดจำกัดของ
ความยืดหยุ่นของคอ โดยต้องใช้การหมุนที่ไม่รุนแรงและทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป
•การยืดคอ: เป็นการยืดคออย่างเบา ๆ โดยการดึงคอหรือหมุนศีรษะไปด้านข้าง เพื่อช่วยเพิ่ม
ความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อและกระดูกสันหลัง
•การนวดเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ: เป็นการนวดบริเวณที่เชื่อมต่อระหว่างกระดูกสันหลัง กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นในคอเพื่อช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
สำหรับข้อห้ามและข้อควรระวังในการนวด มีดังนี้
• ข้อห้าม ได้แก่ 1) ห้ามนวดบริเวณที่เป็นมะเร็ง 2) ห้ามนวดผู้ที่มีไข้สูงเกิน 38.5 องศา 3) ห้ามนวดบริเวณที่มีอาการอักเสบ บวม แดง ร้อน 4) ผู้ที่มีภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ 5) ห้ามนวดบริเวณกระดูกแตก หัก ปริ ร้าว ที่ยังไม่หายดี และ 6) ห้ามนวดผู้ที่เป็นโรคติดเชื้อทางผิวหนังทุกชนิด
• ข้อควรระวัง ได้แก่ 1) สตรีมีครรภ์ 2) ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง 3) ผู้ที่ใส่อวัยวะเทียม หลังผ่าตัดกระดูก 4) ผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุน กระดูกบาง และ 5) ผู้ที่เพิ่งรับประทานอาหารอิ่มใหม่ ๆ (ไม่เกิน 30 นาที) และก่อนให้บริการนวดไทย
• ผู้ให้บริการด้านการนวดมี 3 ประเภท ได้แก่
1) ให้บริการนวดเพื่อสุขภาพ (หมอนวด) เรียน 150 ชั่วโมง อยู่ในกำกับของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ปฏิบัติงานในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ร้านนวดเพื่อสุขภาพ และสปา
1) ผู้ช่วยแพทย์แผนไทย เรียนตั้งแต่ 330 ชั่วโมง 372 ชั่วโมง 800 ชั่วโมง และ 1,300 ชั่วโมง อยู่ในกำกับของสภาการแพทย์แผนไทย ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล และคลินิก ทั้งภาครัฐและเอกชน
1) แพทย์แผนไทย/แพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่มีใบประกอบวิชาชีพ จากสภาการแพทย์แผนไทย ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล และคลินิก ทั้งภาครัฐและเอกชน
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วม สสจ. อุดรธานี ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบสถานประกอบการมีใบอนุญาตถูกต้อง
ภายหลังจากที่ทราบข้อมูลการเสียชีวิตของผู้ป่วย “ผิง ชญาดา” กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) โดยศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพที่ 8 ได้ประสานงานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) อุดรธานี ในการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง จากการตรวจสอบพบว่า ร้านนวดที่ถูกกล่าวอ้างนั้น ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เปิดให้บริการนวดตัว นวดเท้า มีการขออนุญาตประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 และในระหว่างเข้าตรวจสอบพบ ผู้ให้บริการนวด จำนวน 7 ราย โดยผู้ให้บริการทั้ง 7 ราย มีการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ
จากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่า ร้านนวดดังกล่าว ดำเนินการตามมาตรฐานตามกฎหมายอย่างถูกต้อง แต่เพื่อให้เกิดความกระจ่างต่อสาเหตุการเสียชีวิต และให้ความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย พนักงานเจ้าหน้าที่ได้มีการรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม และส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบว่าการให้บริการนวดถูกต้องตามแบบแผนการนวดหรือไม่ และเพื่อป้องกันมิให้เกิดความสูญเสีย หรือผลกระทบต่อประชาชนผู้รับบริการอีกในอนาคต โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพจะดำเนินการเชิงรุก
ในการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในการเลือกรับบริการร้านนวด ยกระดับผู้ให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น มีการติดตาม ประเมินผล จัดระเบียบสถานประกอบการเพื่อสุขภาพทั่วประเทศให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ปรับบทลงโทษผู้ประกอบการและหมอนวดเพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสมเพื่อให้เกิดความตระหนักและระมัดระวังในการให้บริการ
ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพกล่าวว่า การให้บริการของสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ทั้งสปา หรือนวดเพื่อสุขภาพนั้น ล้วนเป็นบริการที่มีความใกล้ชิดกับผู้รับบริการ หากขาดการควบคุมคุณภาพมาตรฐานย่อมก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดการบาดเจ็บ การแพร่เชื้อโรค หรือมีการล่วงละเมิดทางเพศได้ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของผู้รับบริการ สถานประกอบการเพื่อสุขภาพทุกแห่งจะต้องขออนุญาตประกอบกิจการตามที่พระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 และที่แก้ไขเพิ่มเติมได้กำหนดไว้ โดยสามารถยื่นเรื่องขออนุญาตประกอบกิจการกับ กรม สบส. หรือ สสจ. ในพื้นที่ ซึ่งจะมีการตรวจประเมินมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดก่อนดำเนินการอนุญาตฯ
ตรวจสอบหลักฐานสำคัญ 3 ประการ จากสถานประกอบการเพื่อสุขภาพที่ถูกต้องตามกฎหมาย
สำหรับการเลือกเข้ารับบริการประชาชนสามารถตรวจสอบหลักฐานสำคัญ 3 ประการ จากสถานประกอบการเพื่อสุขภาพที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะแสดงไว้ ณ จุดบริการ ดังนี้
1. มีการแสดงใบอนุญาตประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพที่ออกโดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
2. มีการแสดงตราสัญลักษณ์มาตรฐาน สบส. เป็นรูปมือจีบสีทองและดอกกล้วยไม้สีม่วง
3. หากเป็นสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ประเภทสปา จะต้องมีการแสดงใบอนุญาตของผู้ดำเนินการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพอีกด้วย
4. หากตรวจแล้วไม่มีการแสดงหลักฐาน หรือแสดงไม่ครบ ไม่ควรรับบริการเพราะอาจจะเกิดอันตรายได้
ทั้งนี้ เพื่อความมั่นใจ ประชาชนสามารถตรวจสอบใบอนุญาตได้ว่าจริงหรือไม่ โดยสแกนดูข้อมูลใน QR Code ในใบอนุญาตว่าตรงกันหรือไม่ และสามารถตรวจสอบรายชื่อร้านนวดและผู้ให้บริการที่ขึ้นทะเบียน
อย่างถูกต้องได้ที่เว็บไซต์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ https://hss.moph.go.th/