รัฐบาลพร้อมอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ “พระเขี้ยวแก้ว” จากสาธารณรัฐประชาชนจีน มาประดิษฐานในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราว ณ ท้องสนามหลวง

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานงานการดำเนินโครงการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากสาธารณรัฐประชาชนจีนมาประดิษฐานในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราว ครั้งที่ 1/2567 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมด้วย สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากสาธารณรัฐประชาชนจีนมาประดิษฐานในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราวว่า รัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนได้เห็นชอบร่วมกันในการจัดพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากวัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีนมาประดิษฐานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ระหว่างวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 (73 วัน) อัญเชิญมาวันที่ 4 ธันวาคม 2567 โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส และมีสมเด็จพระราชาคณะ ซึ่งกรรมการมหาเถรสมาคมมอบหมายเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ โดยในวันดังกล่าว 
•    เวลา 17.00 น. รัฐบาลได้จัดให้มีริ้วขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ไปยังท้องสนามหลวง 
•    เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าสักการะ ระหว่างวันที่ 5 ธันวาคม 2567 ถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568  ตั้งแต่เวลา 07.00 - 20.00 น. โดยเจ้าหน้าที่จะจัดเตรียมดอกไม้สักการะไว้ให้กับประชาชน โดยประชาชนไม่ต้องนำมาเอง 
•    อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) กลับสาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 

รัฐบาลทั้งสองประเทศได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง การอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วเพื่อแจ้งข่าวให้กับประชาชนทั้งสองประเทศได้ทราบแล้ว เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 และจัดพิธีบวงสรวงการจัดสร้างมณฑปประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 ณ ท้องสนามหลวง โดยการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากสาธารณรัฐประชาชนจีนมาประดิษฐานในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราวครั้งนี้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิม
พระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และเพื่อให้ประชาชนได้กราบสักการะ เพื่อความเป็นสิริมงคล รวมทั้งเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสการครบรอบ 50 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - จีน ในปี 2568 ด้วย

ทุกหน่วยงานพร้อมดูแลอำนวยความสะดวก    
การประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานในการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากสาธารณรัฐประชาชนจีนมาประดิษฐานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ของหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายภารกิจต่าง ๆ ทั้งด้านพิธีการ เช่น การจัดเตรียมสถานที่ ณ ท้องสนามหลวง และการบริหารจัดการโครงการในภาพรวม การดูแลอำนวยความสะดวกให้กับคณะปกปักรักษาพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ของฝ่ายจีน การดูแลอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าสักการะ การรักษาความปลอดภัย การประชาสัมพันธ์ ซึ่งขณะนี้ทุกฝ่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการเตรียมความพร้อมทุกด้านในการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากสาธารณรัฐประชาชนจีนมาประดิษฐานในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราวเรียบร้อยแล้ว 

ในส่วนของการจัดงาน ได้จัดให้มีนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 จำนวน 5 โซน ประกอบด้วย
    โซนที่ 1 “ดับขันธปรินิพพาน มกุฎพันธนเจดียสถาน” นำเสนอเรื่องราวพุทธประวัติในการประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จปรินิพพาน โดยเน้นในช่วงพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน
    โซนที่ 2 “พุทธะบารมีพระสรีระธาตุ” นำเสนอเรื่องราวประวัติของพระสรีระธาตุหรือพระบรมสารีริกธาตุที่ได้อัญเชิญไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของโลก
    โซนที่ 3 “พระเขี้ยวแก้ว” นำเสนอเรื่องราวประวัติ ความสำคัญ และความเป็นมาของพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว)
    โซนที่ 4 “ใต้ร่มเศวตฉัตร ทศมรัช พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” เป็นนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยที่ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกและมีพระราชศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนา สืบสานราชประเพณีสืบเนื่องมาจนเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ
    โซนที่ 5 “ความสัมพันธ์ ไทย-จีน” นำเสนอเรื่องราวและเหตุการณ์สำคัญที่สร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศจีนในด้านต่าง ๆ สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น ส่งเสริมคำว่า “จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน”
    ทั้งนี้ ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 นี้ จะมีการตรวจลงพื้นที่และจัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร (Press Tour) ขอเชิญชวนสื่อมวลชนเข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย 

ความคิดเห็น

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,247,886