คำแนะนำท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติของไทย

คำแนะนำท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติของไทย

คำแนะนำท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติของไทย

     การท่องเที่ยวสายเดินป่าตั้งแคมป์กำลังมาแรง หลาย ๆ คนอยากหลีกหนีความวุ่นวายไปสัมผัสความสงบ และธรรมชาติอันสวยงาม ดังนั้น อุทยานแห่งชาติจึงเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวสายธรรมชาติ ซึ่งการไปเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ เนื่องจากเป็นเขตอนุรักษ์ ดังนั้นนักท่องเที่ยวจะต้องศึกษาข้อมูลให้ดี ซึ่งวันนี้เรามีคำแนะนำเบื้องต้นมาฝาก


การเตรียมตัวก่อนเดินทาง

  • ศึกษาข้อมูลก่อนท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่ง เช่น เวลาเปิด/ปิด หรือฤดูกาลที่เหมาะสำหรับการท่องเที่ยว
  • ควรศึกษาข้อมูลเพื่อการเตรียมตัวเบื้องต้น และปฏิบัติตนในฐานะผู้มาเยือนได้อย่างเหมาะสม จะควรจัดเตรียมเสื้อผ้า และเครื่องนุ่งห่มต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับฤดูกาล หากขึ้นดอยหน้าหนาว ควรเตรียมเสื้อหนาว รองเท้าหุ้มส้น ถุงมือ หมวก ส่วนฤดูฝน ควรเตรียมเสื้อกันฝน ร่ม และถุงกันน้ำ 
  • จัดเตรียมอุปกรณ์การเดินทาง หากต้องเดินทางไกล หรือขึ้นเขา ให้เตรียมเป้ขนาดพอเหมาะใส่ของ รองเท้าผ้าใบที่ใส่สบาย สวมกางเกงขายาว หากไปท่องเที่ยวทางทะเล ให้สวมเสื้อผ้าที่ใส่สบาย เตรียมครีมกันแดด แว่นกันแดดฯ
  • นักท่องเที่ยวที่จะไปเดินป่าศึกษาธรรมชาติจะต้องเตรียมความพร้อมของร่างกาย หากมีโรคประจำตัว ควรเลือกกิจกรรมการท่องเที่ยว หรือฤดูกาลที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย และเตรียมยาประจำตัวที่ต้องใช้ไปด้วย


สำหรับการปฏิบัติตัวเมื่อถึงอุทยาน

  • เดินตามเส้นทางที่อุทยานฯ กำหนด ไม่ออกนอกเส้นทาง เพราะอาจหลงทาง หรือเจอสัตว์ดุร้ายที่เป็นอันตรายได้
  • ไม่ส่งเสียงดัง
  • ไม่นำสัตว์เลี้ยงเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ
  • ไม่นำภาชนะที่ทำด้วยโฟม หรือขยะที่เป็นมลพิษเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ
  • ไม่ก่อกองไฟในที่ที่อุทยานไม่ได้กำหนดไว้
  • ไม่ให้อาหาร และสัมผัสสัตว์ป่า
  • ไม่ตัดไม้เพื่อทำฝืน
  • ไม่ขีดเขียนในที่ต่าง ๆ 
  • ไม่เก็บพืช ดอกไม้ จับสัตว์ และนำสิ่งต่าง ๆ ออกนอกอุทยาน
  • แยกขยะ และทิ้งขยะลงในถังขยะตามที่อุทยานเตรียมให้


หากพบช้างป่า ควรทำอย่างไร 

     อุทยานแห่งชาติของไทยหลายแห่งอาจพบสัตว์ป่าขนาดใหญ่ เช่น อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นหนึ่งในสถานที่ที่สามารถพบเห็นช้างป่าได้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะริมถนนหรือแม้กระทั่งบนถนน เนื่องจากการสร้างถนนเกิดขึ้นทับเส้นทางเดินหากินของช้างป่า หรือเรียกว่า “ด่านช้าง” ซึ่งบรรพบุรุษของช้างได้สอนลูกหลานต่อ ๆ กันมาว่า นี่คือเส้นทางหากิน  ทำให้บางส่วนของถนนเกิดการใช้ร่วมกันระหว่างช้างและรถยนต์ เพื่อความปลอดภัยของช้างป่า และผู้มาเยือน อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ถึงขอความร่วมมือทุกท่านปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้อย่างเคร่งครัด


สังเกตอารมณ์ของช้าง

     ช้างอารมณ์ดี หูจะสะบัดไปมา หางจะแกว่ง และใช้งวงสะบัดไปมา หรือเกี่ยวดึงต้นไม้กิน ไม่ค่อยสนใจผู้คน ปกติช้างจะวิ่งไล่ผู้รบกวนเป็นระยะทางสั้น ๆ เพียง 2 - 3 ครั้ง หากวิ่งตามผู้รบกวนไม่ทัน ก็จะเลิกวิ่งไล่ไปเอง และช้างอารมณ์ดีจะไม่ทำร้าย ถึงรถจะวิ่งเข้ามาใกล้ก็ตาม


ช้างอารมณ์ไม่ดี

     หูจะตั้งกาง ไม่สะบัดหาง งวงจะนิ่งแข็ง และอยู่นิ่งจ้องมองมาทางเรา เหมือนจะพุ่งเข้าชาร์จ แต่หากช้างโกรธ หรือไม่ไว้ใจสิ่งใด เช่น ช้างแม่ลูกอ่อน อาจตรงเข้าทำร้ายผู้รบกวนได้ถึงแม้จะอยู่ในระยะไกล


ข้อปฎิบัติเมื่อพบช้างป่าบนถนน  

  • หยุดรถให้ห่างจากช้างอย่างน้อย 30 เมตร หากช้างเดินเข้าหา ให้เคลื่อนรถหนีด้วยการถอยหลังอย่างมีสติ  รอจนกว่าช้างจะหลบจากถนน จึงเคลื่อนรถผ่านไป
  • อย่าใช้แตรรถ หรือส่งเสียงดังรบกวนช้างหรือไล่ช้าง เพราะอาจทำให้ช้างโกรธ และตรงเข้ามาหาเราได้ เนื่องจากช้างป่า ประสาทหูจะดีมาก เสียงแตรแหลม ๆ จะทำให้ช้างตกใจ และโกรธ
  • งดการใช้แฟลชถ่ายรูป เพราะอาจทำให้ช้างตกใจ ตรงเข้ามาทำร้ายได้ และทำให้ช้างเกิดการสนใจเดินเข้ามาหา เพราะช้างตกใจแล้วตกใจเลย หายยาก
  • ให้ติดเครื่องรถยนต์ไว้เสมอ เพื่อให้สามารถเคลื่อนรถหนีได้ทันท่วงที และเสียงเครื่องยนต์รถที่ติดเครื่องดังทุ้ม ๆ จะไม่ทำให้ช้างนั้นตกใจ ไม่เครียดและคุ้นเคย เพราะได้ยินเสียงและรู้ว่านี่คือรถยนต์
  • หากพบช้างในเวลากลางคืน ให้เปิดไฟรถไว้เสมอ เพื่อให้สามารถสังเกตอาการของช้างและระยะห่างระหว่างรถกับช้างได้โดยสะดวก ห้ามเปิดกะพริบ เพราะแสงจะเข้าตา และดึงดูดให้ช้างเกิดความสนใจ เดินเข้ามาหา
  • เมื่อตกอยู่ในวงล้อมของช้าง ตั้งสติให้มั่น หากเป็นเวลากลางคืน ให้ใช้ไฟต่ำ และอย่าเปิดกะพริบ แล้วเลือกเคลื่อนรถไปในทางที่มีช้างอยู่น้อย 
  • แม้บางครั้งจำเป็นต้องเข้าใกล้ หรือเบียดโขลงช้างไปก็ตาม อย่าดับเครื่องยนต์ และปิดไฟรถเป็นอันขาด ค่อย ๆ เคลื่อนรถ ให้เสียงเครื่องยนต์นิ่งมากที่สุด
  • ไม่ควรจอดรถดูช้าง เพราะอาจมีรถคันอื่นตามมา แล้วรถของคุณกีดขวางรถผู้อื่น จนเป็นเหตุให้ถูกทำร้ายแทนรถ
  • ไม่ควรจอดรถแล้วลงไปถ่ายรูปช้างในระยะใกล้ เพราะอาจทำให้คุณวิ่งหนีขึ้นรถไม่ทัน ควรระลึกอยู่เสมอว่า โดยทั่วไปช้างมักจะอยู่รวมกันเป็นครอบครัว หรือฝูง
  • สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งเมื่อรถจอดเรียงกันบนถนน ความสามัคคีจะต้องเกิดขึ้น ไม่ว่าคันที่อยู่ใกล้ช้าง หรืออยู่ไกลช้างล้วนเป็นผู้ประสบเหตุทั้งสิ้น ดังนั้นหากรถคันหน้าเปิดไปถอยรถ คันข้างหลังถัดไปก็ให้ถอยรถอย่างมีสติ


สอบถามข้อมูล จองที่พักล่วงหน้า

      หากต้องการพักที่อุทยานแห่งชาติ ควรจองที่พักล่วงหน้า ทั้งแบบบ้านพักและพักแรมด้วยเต้นท์ ซึ่งสามารถจองได้ด้วยตัวเองผ่านทางเวปไซต์ www.dnp.go.th หรือโทร. 0 2562 0760 หรือ สามารถจองผ่านแอปพลิเคชัน QueQ และหากใครไม่สะดวกนำเต้นท์มาเอง สามารถติดต่อขอเช่าบริการจากอุทยานได้เช่นกัน


ที่มา :   สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 61 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 โทร. 0 2561 0777

     อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตู้ ปณ.9 ปท.ปากช่อง ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง นครราชสีมา 30130 โทร. 08 6092 6509

ข้อมูลเพิ่มเติม 1

ข้อมูลเพิ่มเติม 2

 

 

 



 


ความคิดเห็น


ประเด็นที่เกี่ยวข้อง

สงวนลิขสิทธิ์ 2022 โดย กรมประชาสัมพันธ์
สถิติการเข้าชม : 69,246,523